กทม. 15 ก.ค. – พิสิฐ แนะกระทรวงแรงงานใช้วิกฤติเป็นโอกาสยกเครื่องระบบจัดเก็บข้อมูลแรงงาน หวังคนไทยมีหลักประกันจากการดูแลของรัฐอย่างถ้วนหน้าไม่เว้นแรงงานนอกระบบ
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565 ระบุว่าในวิกฤตโควิดทั่วโลกขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขถือเป็นแนวหน้าในการแก้วิกฤตกับคนป่วย แต่กระทรวงแรงงานควรเป็นแนวสองในการแก้ผลที่ตามมาจากการที่ประชาชนตกงานหรือขาดรายได้ ประเทศต่าง ๆ จะมีมาตรการเยียวยาแรงงานโดยตรงเพื่อไม่ให้นายจ้างปลดลูกจ้างด้วยการให้งบประมาณสนับสนุน แต่ในกรณีของไทยน่าเสียดายที่กระทรวงแรงงานนั้นงบประมาณ 2565 ก็ถูกปรับลดลง จาก 6.9 หมื่นล้านบาทเหลือ 4.9 หมื่นล้าน
นายพิสิฐ กล่าวอีกว่า ส่วนของประกันสังคมที่ถูกปรับลดลงมากจาก 6.4 หมื่นล้านบาทเหลือ 4.5 หมื่นล้านบาทก็ยังถูกปรับลดลง 500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน งบเงินกู้จาก พระราชกำหนด 2 ฉบับที่ใช้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ก็ไม่ปรากฎมีงบช่วยแรงงานที่ถูกกระทบโดยตรง ต่างจากประเทศในยุโรปที่มีการอุดหนุนให้นายจ้างยังคงจ้างคนงานไว้ ประเทศเหล่านี้ถือว่า การรักษาการจ้างงานเป็นเป้าหมายเศรษฐกิจที่สำคัญ เหตุผลหนึ่งที่เรายังไม่ได้ทำอาจเป็นเพราะข้อมูลของแรงงานโดยเฉพาะนอกระบบยังไม่ได้เก็บอย่างเป็นระบบที่มาใช้การได้ นายพิสิฐ จึงฝากเสนอให้กระทรวงแรงงานใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการจัดเก็บข้อมูลแรงงานให้สมบูรณ์ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับหลักประกันจากการดูแลของรัฐ โดยเฉพาะให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบประกันสังคมอย่างถ้วนหน้า โดยอาจจะร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่กำลังจะจัดทำสำมะโนประชากร สำหรับงานของกรมการจัดหางานนั้นตนไม่เห็นด้วยที่กรมจะตั้งเป้าส่งแรงงานไปต่างประเทศถึง 100,000 คนต่อปี เพราะเศรษฐกิจไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ตามประชากรไทยที่ลดลง ขณะที่แรงงานต่างด้าวนั้น ขอให้กระทรวงทบทวนสิทธิประโยชน์ชราภาพที่ยังให้เงินเลี้ยงดูตลอดชีวิตหลังเกษียณ ทั้งที่คนงานไทยที่อยู่นอกระบบยังไม่ได้สิทธิ พร้อมกันนี้ เสนอให้มีการสังคายนาระบบประกันสังคมด้านชราภาพให้มีความยั่งยืนโดยแยกหน่วนบริหารการเงินลงทุนให้เป็นอิสระคล้าย กบข. และปรับเปลี่ยนจากระบบ defined benefit ในปัจจุบันเป็นระบบ defined contribution อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย