กรุงเทพฯ 27 ก.พ. – เอ็กโก้ เชื่อมั่นพลังงานลม ในพื้นที่ ส.ป.ก.ไม่ถูกยกเลิก เพราะเป็นไปตามวัตถุประสงค์การปฏิรูปที่ดินช่วยเหลือเกษตรกร แต่เพื่อให้เกิดความถูกต้องทั้งระบบ ก็น่าจะมีการแก้กฏหมายรองรับ ย้ำมี 2 พื้นที่ทั้งขนอม,บีแอลซีพี รองรับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หากรัฐบาลปรับแผนพีดีพี 2015 หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ส่อแววล่ม
นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทเชื่อมั่นว่า หลังจาก สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) มีการตรวจสอบสัญญาการเช่าที่ดินเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมภายใน 45 วันตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดแล้ว บริษัทเชื่อมั่นว่า จะไม่ถูกยกเลิกสัญญาเช่า เพราะได้ดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินที่มีการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเรื่องค่าเช่าตรงกับเกษตรกร 3 หมื่นบาท/ไร่ จ่ายให้แก่รายที่มีเงาของใบพัดพาดผ่าน อีก 5 พันบาทไร่ รวมทั้งมีอีกหลากหลายโครงการที่ช่วยเหลือในพื้นที่ โดยบริษัทลงทุน เช่าที่ดิน ส.ป.ก.44 ไร่ ผลิตไฟฟ้า 2 โครงการ กำลังผลิตรวม .86.9เมกะวัตต์ ลงทุน 7,200 ล้านบาท กู้จาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เป็นหลัก
“การลงทุนพลังงานลม เป็นนโยบายรัฐที่สนับสนุนในปี 2552 จึงมีมติ ครม.เป็นFAST TRACK ให้เช่าที่ดิน ส.ป.ก.และพื้นที่ป่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดที่ลมพัดผ่าน หาก ส.ป.ก.ยกเลิก โครงการก็ต้องคิดให้ดีๆ เพราะกระทบการลงทุนที่จะเกิดขึ้นรวม 1 พันเมกะวัตต์ และเรื่องนี้ก็ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล เมื่อนโยบายออกมา แล้ว กฏหมายยังแก้ให้สอดคล้องไม่ทัน ก็น่าจะแก้ไขกฏหมาย ให้รองรับได้ โดยศาลปกครองที่ตัดสินเรื่อง การให้เช่าที่ดิน ส.ป.ก.ของโรงไฟฟ้าเทพสถิตย์วินด์ฟาร์ม ก็พิจารณาตามหลักฏหมาย เรื่องนี้ควรคิดให้รอบครอบ”นายชนินทร์กล่าว
นายชนินทร์ กล่าวว่า โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าในไทยเกิดได้ยากทั้งอัตราการขยายตัวที่ไม่สูง และยังถูกคัดค้านจากภาคประชาชน บริษัทจึงวางแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ ที่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฏหมายตลอดแต่ก็ถูกคัดค้าน ซึ่งเทคโนโลยีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ใช้นับเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลก ลดผลกระทบให้ได้สูงกว่าค่ามาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด และนับเป็นการกระจายเชื้อเพลิงลดความเสี่ยงด้านพลังงาน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี2015) ในส่วนของพื้นที่ของโครงการที่บริษัทถือหุ้นอยู่ก็มีพื้นที่รองรับกำผลิตได้เพิ่มขึ้นทั้ง โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ได้เพิ่มอีก 500เมกะวัตต์.ใช้ก๊าซอีกเพียง 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ในนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองก็พร้อมจะเพิ่มกำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเห็นชอบหรือไม่
นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่า เอ็กโก ศึกษาพร้อมจะลงทุนในนโยบายพลังงานทดแทนที่รัฐบาลเปิดส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ฟาร์ม โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm และอื่น ๆ ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดนับว่าเป็นอัตราที่รับได้
ด้านนายนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปีนี้จะอยู่ในช่วง 850-1,000 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 50 ล้านบาท/เมกะวัตต์ โดยจะเร่งเคลียร์การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากโครงการเดิมให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 119 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ FiT Bidding สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 12 เมกะวัตต์ (เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 8 เมกะวัตต์และขยะชุมชน 4 เมกะวัตต์) และโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ 400 เมกะวัตต์หลังจากนั้นจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากโครงการใหม่ ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT)
สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm ที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเปิดรับซื้อในช่วงไตรมาส 2/60โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้ คือ ใช้สำหรับการเปิดรับซื้อรายใหม่เท่านั้น และขายเข้าระบบเป็น SPP ขนาดมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ โดยสามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท โดยไม่กำหนดสัดส่วน ทั้งนี้อาจพิจารณาใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ และต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กเท่านั้น (เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และ ในช่วง Off-peak ไม่เกิน 65 % โดยอาจต่ำกว่า 65% ได้ ) นอกจากนี้ยังห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้า (Start up) เท่านั้น และยังต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมใช้พื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ Competitive Bidding ใช้อัตรา FiT เดียวแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 63
โดยกระทรวงพลังงานได้จัดทำอัตราการรับซื้อไฟฟ้า FiT สำหรับ SPP HybridFirm ซึ่งพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานหลายประเภทเชื้อเพลิง บนพื้นฐานเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ Firm และอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP Hybrid Firm สูงสุดไม่เกิน 3.66 บาท/หน่วย เป็นเวลา 20 ปี
นอกจากนี้จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18 เมกะวัตต์ และจะจ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 12 เมกะวัตต์ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm จากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพืชพลังงาน ทั่วประเทศ ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมกำลังผลิตติดตั้ง 289 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการประชารัฐระยะ 2 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 35 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายให้ กฟภ. รวม 30 เมกะวัตต์ ใช้หญ้าเนเปียร์ เป็นเชื้อเพลิงหลัก -สำนักข่าวไทย
นายทวารัฐ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว หลังจากนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฯกำหนดรายละเอียดเพื่อออกประกาศรับซื้อต่อไปซึ่งกระบวนการอาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน- สำนักข่าวไทย