กรุงเทพฯ 9 ก.ค.-สมาคมภัตตาคารไทย ยื่นข้อเรียกร้องถึง นายกรัฐมนตรี 10 ข้อ ขอความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่คำสั่งมาตรการป้องกันเข้มงวดสูงสุดรอบใหม่ ทั้งขอให้แพลทฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เข้าโครงการ “คนละครึ่ง” และย้ำขอสินเชื่อพิเศษ
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือเปิดผนึกยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากที่ ศบค.มีมติยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยจำกัดการเดินทางออกนอกบ้านของประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ปิดห้างสรรพสินค้าเปิดได้เฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ตมีกำหนดระยะเวลา 14 วันนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารมีความเข้าใจในปัญหาและสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้และพร้อมให้ความร่วมมือสกัดกั้นโควิด-19 แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า มาตรการที่ออกมาล่าสุดนี้เป็นการซ้ำเติมวิกฤตด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารมากยิ่งขึ้น จากที่เรากำลังสาหัสอย่างหนักและมีกิจการต้องปิดตัวไปแล้วจำนวนมากและกำลังจะมีทยอยปิดกิจการตามมาอีก หากครั้งนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงมายังภาคธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
ดังนั้นจึงขอเรียกร้อง 10 ข้อต่อนายกรัฐมนตรีให้ช่วยสั่งการดำเนินการช่วยเหลือแบบเจาะจงเฉพาะกิจการภัตตาคารและร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ เยียวยาต้นทุน ออกมาตรการลดค่าเช่าทั้งในห้างฯ และนอกห้างฯ ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำเป็นเวลา 60 วัน, ชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยประเมินจากฐานการชำระภาษีประจำเดือน เป็นเวลา 30 วัน , ออกมาตรการควบคุมค่าGP แพลทฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ให้อยู่ที่ไม่เกิน 15% เป็นเวลา 30 วัน , อนุญาตให้แพลทฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สามารถรับชำระค่าสินค้าในโครงการคนละครึ่งได้, จัดงบประมาณในการจัดซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารเพื่อนำแจกจ่ายให้ตามแคมป์คนงานและชุมชนต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างกระแสเงินสดต่อลมหายใจให้ร้านอาหาร
รวมถึง ขยายระยะเวลาชชดเชยค่าแรง 50% และเยียวยาค่าแรง 2,000 บาท และ 3,000 บาทออกไปอีกเป็น 60 วัน ยกเว้นการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ทุกประเภท ต่อกิจการภัตตาคารและร้านอาหาร เป็นเวลา 6 เดือน, หยุดพักชำระเงินต้น และลดดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ผู้ประกอบการกู้มาในช่วงวิกฤตการระบาดโควิด-19 ,9 ปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เนื่องจากมาตรการทางการเงินที่มีมาผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารเข้าไม่ถึงสินเชื่อดังกล่าว ได้รับการปฏิเสธจากธนาคารต่าง ๆ ตามฎเกณฑ์ คุณสมบัติการกู้ในภาวะสถานการณ์ปกติมาใช้พิจารณา ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารSME( ตามที่ได้เสนอแก่สภาพัฒน์และกระทรวงการคลังจำนวน สามหมื่นล้านบาท) และขอให้ตั้งคณะกรรมการที่รวมทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงานฯ หน่วยงานรัฐอื่น ๆ สมาคมศูนย์การค้า สมาคมภัตตาคารไทยและเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือตามมา
“ข้อเสนอดังกล่าวมานี้ ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการช่วยเหลือกิจการภัตตาคารและร้านอาหารอย่างเป็นระบบและทันการณ์ก่อนที่หลายกิจการจะต้องปิดตัวลงและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมภาพรวมตามมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟู”นางฐนิวรรณ ระบุ.-สำนักข่าวไทย