สมุทรสงคราม 1 มิ.ย.- ผู้ช่วยหัวหน้าเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าพันธ์ท้ายนรสิงห์ นำเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านจับตัวเงินตัวทองหลังได้รับเเจ้งว่าสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน โดยภารกิจครั้งนี้ใช้เวลา 3 วันจับได้ 21 ตัว
นายศิวณัฐ สี่เหรียญน้อย ผู้ช่วยหัวหน้าเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าพันธ์ท้ายนรสิงห์ นำเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการจับสัตว์ป่าคุ้มครอง (เหี้ย) หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าตัวเงินตัวทอง เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม โดยใช้วิธีวางแร้ว ซึ่งลักษณะคล้ายบ่วงดักจับสัตว์ เป็นเชือกวางขวางทางเดินเข้าไปหาเหยื่อล่อที่เป็นซากสัตว์เหม็นเน่า ขณะที่ริมทางเดิน เจ้าหน้าที่จะใช้กิ่งไม้ในพื้นที่ปักเรียงไว้ไม่ให้ตัวเหี้ยเลี้ยวไปทางอื่น เมื่อตัวเหี้ยติดบ่วงเชือกยิ่งดิ้นเชือกก็จะยิ่งรัดแน่น โดยภารกิจครั้งนี้เจ้าหน้าที่พบเหี้ยตัวใหญ่สุดยาวกว่า 2 เมตร หนัก 35 กิโลกรัม ที่ติดแร้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่ใช้ห่วงคล้องคอแล้วลากขึ้นจากน้ำ ช่วยกันจับขึ้นมาพบฝั่งแล้วใช้เชือกมัดขาทั้ง 4 ข้าง นอกจากนี้ยังมีเหี้ยอีกจำหนวนหนึ่งพยายามปีนหนีขึ้นต้นไม้ เจ้าหน้าที้จึงใช้เชือกผูกไว้ ก่อนจะนำมารวมกันเพื่อนับจำนวน แล้วนำขึ้นรถกระบะ เพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาศัยต่อไป สำหรับภารกิจครั้งนี้ใช้เวลา 3 วันจับเหี้ยได้ 21 ตัว
สำหรับ “ตัวเงินตัวทอง” เป็นสัตว์ชนิดที่ได้รับความนิยมในภาคธุรกิจ เนื้อนำไปประกอบอาหารได้ ส่วนหนังก็ไปแปรรูปเป็นกระเป๋าและเข็มขัดได้ จึงเกรงว่าอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ ต่อมามีประกาศให้ตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลานลำดับ 91 สงวน ห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือครอบครอง ฝ่าฝืนมีความผิดมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือต้องจำทั้งปรับ ชาวบ้านไม่กล้าทำอันตรายเพราะเกรงว่าจะทำผิดกฎหมาย ตัวเงินตัวทองจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นในจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งติดชายทะเล จึงมีอาหารประเภทกุ้ง หอย ปู ปลา ให้กินอย่างอุดมสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตามที่มีผู้ร้องเรียน สายด่วนพิทักษ์ป่า1362 กรณีมีตัวเงินตัวทองจำนวนมากสร้างความเดือดร้อน ในพื้นที่ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าเขตห้ามล่าพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงมอบหมายให้ตนนำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจับเหี้ย ในครั้งนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์ป่า เช่น เหี้ย, ลิง หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ไปรบกวนขอให้แจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 เนื่องจากสัตว์เหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครอง.-สำนักข่าวไทย