กระทรวงคลัง 25 พ.ค.-สบน.วางแผนกู้เงิน 5 แสนล้านบาท อย่างรอบคอบ ระบุไม่ได้กู้ครั้งเดียวเต็มจำนวน สถาบันจัดอันดับเครดิต ยังมีมุมมองดีต่อฐานะการคลังของไทย
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า การออก พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดย ที่ผ่านมาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและระมัดระวังตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) คงเหลือและเพียงพอเพื่อดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ สำหรับการกู้เงินของรัฐบาลในวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 นั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พร้อมบริหารจัดการอย่างรอบคอบโดยวางแผนและทยอยกู้เงินตามความจำเป็นและตามแผนการเบิกจ่ายจริง และไม่ได้กู้เงินทั้งจำนวน 500,000 ล้านบาท ในคราวเดียว โดยจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่ผสมผสานทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
ในช่วงปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้วางแผนกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1 เกือบครบ 1 ล้านล้านบาท และจะต้องกู้เพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท เตรียมแปนกู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปีหน้า เพื่อใช้ดำเนินนโยบายการคลังเพิ่มเติมในการดูแลทุกภาคส่วนรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ คาดการณ์สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 58.56% ของจีดีพี และยังคงดำเนินการบริหารหนี้สาธารณะด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลยังมีมุมมองที่ดีต่อภาคการคลังที่แข็งแกร่งของประเทศไทย ซึ่งสะท้อน ความเชื่อมั่นของการดำเนินนโนบายทางการคลังของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา
หลังจากพ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ครม.อนุมัติ 287 โครงการ กรอบวงเงินกู้ 817,223 ล้านบาท และกระทรวงการคลังได้กู้เงินแล้ว จำนวน 703,841 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 680,099 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.22 ของวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2563 หดตัวที่ประมาณ – 6% ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ไว้ที่ – 8.1% และที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ – 8%.-สำนักข่าวไทย