กรุงเทพฯ 19 พ.ค.-ผู้เชี่ยวชาญงบประมาณ นักเศรษฐศาสตร์ ขอรัฐบาลชี้แจง พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่ม 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้เยียวยาโควิด-19 แนะปรับลดงบจัดซื้ออาวุธ การใช้งบระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ… ในวาระลับ วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท นับเป็นแผนการกู้เงินเพิ่มเติม จากเดิมได้ออกกู้เงิน พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ซึ่งได้ทยอยอนุมัติเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว เนื่องจากกระทรวงคลังคาดการณ์ปัญหาโควิด-19 อาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมเพิ่ม จึงเตรียมวงเงินรองรับเพิ่มอีก วงเงิน 7 แสนล้านบาท เห็นว่างานด้านสาธารณสุข เพราะมีงบเหลือเหลือ 30,000 ล้านบาท ด้านการใช้เงินเยียวยาประชาชนเหลือ 400,000 ล้านบาท และด้านแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ลดลงเหลือ 270,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวด้านงบประมาณและเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีคลัง ต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ และคลายความสงสัย เนื่องจากการกู้เงินวงเงินสูง 7 แสนล้านบาท ก่อนหน้านี้ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้อนุมัติใช้เงินกู้ไปแล้วเท่าไร การใช้เงินเพื่อสู้กับปัญหาโควิดของงบประมาณปี 64 ที่เหลืออยู่ 4 เดือน ก่อนถึงเดือนกันยายน 64 สิ้นปีงบประมาณ 64 นั้น ทำให้ปัญหาแพร่ระบาดเบาบางลงหรือไม่ และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 65 ได้ปรับลงกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -5.6 จากงบประมาณรายจ่ายปี 64 วงเงิน 3.285 ล้านล้านบาท จึงทำให้งบประมาณด้านสาธารณสุข มีจำนวน 153,940 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.8 ขณะที่งบกระทรวงกลาโหม วงเงิน 203,282 ล้านบาท ลดลง -4.9 เมื่องบประมาณภาพรวมลดลง
แต่งบกลาโหมยังลดลงน้อยกว่างบด้านสาธารณสุข จึงต้องชี้แจงให้ได้ว่างบประมาณผูกพันจัดซื้อเรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหมมีสัญญาผูกดันต่อเนื่องอย่างไร และหากเป็นรายการใหม่ ไม่มีข้อผูกพันตามสัญญา จะชะลอการจัดซื้อจัดจ้างใหม่อย่างไรบ้าง เพื่อนำเงินมาบรรเทาความเสียหายและเยียวยาปัญหาโควิด ซึ่งอาจไม่ต้องกู้เงินเพิ่มถึง 7 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบ ด้วยการปรับลงงบระหว่างปีได้ ทุกฝ่ายจึงต้องออกมาชี้แจงการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท มาใช้เยียวยาปัญหาโควิด-19 เพราะงบประมาณ หรือเงินกู้จากแหล่งต่างๆ ไม่เพียงพอในช่วงนี้ รัฐบาลจึงต้องเป็น พ.ร.ก. กู้เงิน แม้เป็นเรื่องเร่งด่วน ควรเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็น เพื่อช่วยถ่วงดุลและตรวจสอบ และเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน โดยต้องชี้แจง แผนการใช้เงิน อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เงินอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดผล และโปร่งใส
โดยควรตั้ง CEO จากทุกฝ่ายมาร่วมกันดูแลปัญหาโควิด และการใช้เงินเยียวยาในยามวิกฤติ เนื่องจากการระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้นทุกวัน อาจมีการระบาดรอบ 4 เพิ่มอีก หากป้องกันการเข้าออกตามชายแดนไม่ได้ จึงยอมรับว่าอาจต้องใช้เงินฟื้นฟูเยียวมากกว่า 7 แสนล้านบาท แต่อาจกู้ไม่ถึง 7 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการงบประมาณ เช่น งบด้านความั่นคง การจัดซื้ออาวุธ หรืองบด้านอื่นในระยะยาว ต้องปรับลดหรือเลื่อนออกไปก่อน เพื่อนำมาช่วยเหลือแก้ปัญหาช่วงวิกฤติครั้งนี้ .-สำนักข่าวไทย