17 พ.ค. – องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ผู้คนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจหลายแสนคนต่อปี จากการทำงานหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมงในแต่ละวัน อีกทั้งในภาวะการระบาดของโควิด-19 มีผลทำให้หลายคนต้องทำงานมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้นด้วย
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยผลงานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่าง WHO และองค์กรแรงงานนานาชาติ เกี่ยวกับความสูญเสียที่เชื่อมโยงกับการทำงานเป็นระยะเวลายาวนานในแต่ละวัน โดยพบว่า เมื่อปี 2016 มีประชากรโลกมากถึง 745,000 คน เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ ซึ่งล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานยาวนานหลายชั่วโมงเกินไปในแต่ละวัน
ขณะที่แนวโน้มการเสียชีวิตของคนทำงาน ตั้งแต่ปี 2000-2016 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 42% และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 19% งานวิจัยยังพบด้วยว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ราว 72% เป็นผู้ชายในวัยกลางคน หรือมากกว่า โดยผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้หนักที่สุด
ผลวิจัยชี้ด้วยว่า การทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมง/สัปดาห์ ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 35% และเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 17% เมื่อเทียบกับผู้ที่ทำงานราว 35-40 ชั่วโมง/สัปดาห์ แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะไม่ได้ทำขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ WHO ชี้ว่า ผลของการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งใช้ชั่วโมงในการทำงานมากกว่า เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นราว 10% รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ก็อาจทำให้ความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้มีเพิ่มขึ้น ไม่รวมถึงภาวะเครียดจากการทำงาน และปัญหาอื่นๆ จากการระบาดของไวรัส. – สำนักข่าวไทย