นิวยอร์ค 1 พ.ค. – ทูตพิเศษของสหประชาชาติกล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวานนี้ว่า การที่นานาประเทศไม่ได้ประสานร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้การก่อรัฐประหารในเมียนมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ การบริหารประเทศมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะชะงักงันในเมียนมา
นางคริสติน ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา บรรยายสรุปให้สมาชิก 15 คนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา เธอกล่าวว่า เธอยังคงหวังว่าจะได้เดินทางไปยังเมียนมาแต่ทางกองทัพ ซึ่งก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ยังไม่อนุมัติให้เธอเข้าประเทศ นางชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ กล่าวว่า การบริหารประเทศของเมียนมา มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะชะงักงัน ในขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยยังคงเดินหน้าประท้วงแม้ว่าจะมีการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมและปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง การจับกุมตามอำเภอใจและทรมาน ตามแนวทางกวาดล้างของกองทัพ เธอกล่าวว่า รายงานที่ระบุว่ายังคงมีการปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่าง มีความเสี่ยงที่จะทำลายความพยายามในการผลักดันแนวทางไปสู่การยุติวิกฤติการณ์ทางการเมืองในเมียนมา หลังการประชุมผู้นำอาเซียน เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาและผู้นำในการก่อรัฐประหารเข้าร่วมด้วย ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ เน้นถึงความสำคัญของเสียงเรียกร้องของอาเซียนที่ต้องการให้ยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมาและขอให้นำฉันทามติ 5 ของของที่ประชุมอาเซียนไปปฎิบัติโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นขั้นตอนแรกในการหาทางออกให้กับเมี่ยนมาอย่างสันติและยั่งยืน ด้วยวิธีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์.-สำนักข่าวไทย