นครปฐม 21 พ.ย.-กระทรวงศึกษาธิการจัดการเรียนการสอนแบบทวิศึกษาให้กับนักเรียนชั้นมัธยมปลายอย่างเข้มข้นและเร่งรัดเข้าสู่ปีที่ 2 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเรียนสายสามัญได้มีโอกาสมีอาชีพรองรับและผลิตแรงงานตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ
นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนกำแพงแสนวิทยา ทั้งหญิง-ชายเกือบ 40 คน เรียนรู้วิธีการซ่อมเครื่องยนต์เล็กจากอาจารย์วิทยาลัยสารพัดช่างจังหวัดนครปฐม ซึ่งมาสอนนักเรียน ม.ปลาย ที่เลือกเรียนสายอาชีพควบคู่กับการเรียนสายสามัญ หรือการเรียนแบบทวิศึกษา โดยสอนให้เด็กถอดชิ้นส่วน ซ่อมแซม และประกอบเครื่องยนต์จนใช้งานได้
1 เทอมของการเรียนวิชาช่าง ทำให้เด็กนักเรียนหลายคนตัดสินใจจะไม่สอบเข้ามหาวิทยาลัยตามแผนเดิม แต่จะเปลี่ยนไปเรียนในระดับ ปวส. และเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ควบคู่ไปด้วย
โรงเรียนกำแพงแสนวิทยา เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมนำร่องโครงการเรียนร่วมทวิศึกษา ตามนโยบายรัฐบาลมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 โดยการเรียนการสอนยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. และได้เพิ่มหลักสูตรอาชีวศึกษาระดับ ปวช. ในสาขาที่นักเรียนเลือก วางแผนการเรียนการสอนร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างนครปฐม เพื่อให้ครบตามหลักสูตรทั้ง 2 หลักสูตร และฝึกงานจริงในสถานประกอบการในช่วงปิดเทอมใหญ่ เมื่อจบมานักเรียนจะได้รับวุฒิ 2 ใบ คือวุฒิ ม.ปลาย และวุฒิ ปวช. พร้อมกัน
นักเรียนที่เข้าเรียนแบบทวิศึกษารุ่นแรกของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ขณะนี้อยู่ในระดับชั้น ม.5 ใน 432 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงหวังให้เด็กจบ ม.6 มีทางเลือกมากขึ้น นอกเหนือจากการเข้าสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีนักเรียนทวิศึกษาในทุกสังกัดทั่วประเทศ รวม 54,634 คน โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนตามโครงการเรียนฟรีในปี 2560 จำนวน 247 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย