กรุงเทพฯ 16 มี.ค. – ปตท.สผ.เผยแผนบริหารจัดการก๊าซฯ ทดแทนแหล่งเอราวัณที่เข้าพื้นที่ล่าช้า คาดก๊าซฯ จะหายไป 200-300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน โดยพร้อมผลิตจากแหล่งบงกช-อาทิตย์ ทดแทน 80% นำเข้าแอลเอ็นจี 20% เชื่อกระทบค่าไฟฟ้าไม่มากนัก
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้วางแผนร่วมกับ บมจ.ปตท. ในการเตรียมแผนงานที่จะบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้มีเพียงพอมั่นคง หลังจากที่บริษัทฯ ไม่สามารถเข้าไปเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ หรือโครงการ G1/61 ได้ต่อเนื่อง เหตุเพราะผู้ประกอบการสัญญาสัมปทานรายเดิมยังไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ โดยคาดว่าปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณจะหายไปประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากที่ข้อกำหนดของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำหนดให้การผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนเมษายน 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
โดยในส่วนที่กำลังผลิตหายไปนี้ ทาง ปตท.สผ.พร้อมที่จะผลิตเพิ่มจากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์ มาทดแทนร้อยละ 80 และ ปตท.จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาทดแทนประมาณร้อยละ 20 ซึ่งแผนนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจากทางกรมเชื้อเพลิงฯ ในขณะที่คาดว่า เมื่อ ปตท.สผ.เข้าแหล่งเอราวัณได้แล้ว กำลังผลิตจะเป็นไปตามแผนงานตามสัญญาภายใน 1 ปี
“คงต้องขอความกรุณาจากผู้ได้สัมปทานเดิม ขอเข้าพื้นที่เอราวัณโดยเร็ว เพื่อขอให้เร่งผลิตให้เร็วที่สุด และ หากกรมเชื้อเพลิงฯ เห็นชอบแผนผลิตเพิ่มจากแหล่งบงกช-อาทิตย์ ก็จะทำให้คาดว่า ต้นทุนโดยรวมต่อค่าไฟฟ้าไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก” นายพงศธร กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ที่เป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ชนะการประมูลในโครงการ G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เมื่อเดือน ก.พ.62 ซึ่ง ปตท.สผ.ได้พยายามประสานงานกับผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณ คือ เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มาโดยตลอด เพื่อเตรียมผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ ปตท.สผ. อีดี เข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดือน เม.ย.65 แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้
นายพงศธร กล่าวว่า ตามแผนงานจะมีการลงทุนต่อเนื่องในแหล่งเอราวัณ ประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ในปี 2564-2568 โดยเบื้องต้นได้เตรียมแท่นผลิต 8 แท่น และรับพนักงานปฏิบัติการในแหล่งเอราวัณมาทำงานร่วมกับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับกำลังผลิตแหล่งอาทิตย์ พร้อมจะผลิตเพิ่มอีก 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากกำลังผลิตเพื่อขายตามสัญญา 220 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และแหล่งบงกช ก็พร้อมเพิ่มกำลังผลิต จากกำลังผลิตเพื่อขายตามสัญญาที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยล่าสุดมีกำลังผลิต 940 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน. – สำนักข่าวไทย