กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ว่า ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 3.1 และขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2560 มาจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่และการยกระดับระบบรางทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชนและเสริมภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่เป็นไปอย่างเข้มแข็งปีนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.1 ยังเป็นแรงส่งต่อในปี 2560 ขณะที่ภาคการเกษตรฟื้นตัวหลังผ่านสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงยาวนาน ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเลื่อนออกไปในช่วงการถวายความอาลัยนั้น ได้รับการชดเชยจากมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศช่วงสิ้นปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกรณีที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit นโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่ปรับเร็วขึ้นยังกดดันการส่งออกของไทย แม้ว่าภาพรวมการส่งออกปี 2560 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1 สูงกว่าปีนี้ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 ผลบวกจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาขยายตัวก็ตาม
นายเกียรติพงศ์ กล่าวด้วยว่า การที่จีดีพีขยายตัวเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรเติบโตได้ถึงร้อยละ 4 ดังนั้น เสนอแนะให้รัฐบาลปฏิรูปภาคบริการให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันภาคบริการมีการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 40 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่สร้างมูลค่าได้เพียงร้อยละ 50 ของจีดีพี หากเทียบกับภาคการผลิตที่มีสัดส่วนการจ้างงานเพียงร้อยละ 15 แต่สามารถสร้างมูลค่าได้ถึงร้อยละ 35 ของจีดีพี
ดังนั้น ประเทศไทยควรปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ การออกใบอนุญาต เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันและเปิดกว้างให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาบริการต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเกิดความร่วมมือด้านการค้ามากขึ้น ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วภาคบริการจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี ดังนั้นหากประเทศไทยเริ่มทำการปรับปรุงภาคบริการในทันทีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเฉลี่ยได้ถึงร้อยละ 4-5 และมีโอกาสหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
“ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์มีการปรับปรุงภาคบริการอย่างต่อเนื่อง มาเลเซียชูจุดเด่นเป็นศูนย์กลางการศึกษา ส่วนฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลางไอที ขณะเดียวกันมองว่าประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ได้เช่นเดียวกัน เพราะไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้ แต่ต้องมีการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบให้เปิดกว้างมากขึ้น” นายเกียรติพงศ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย