กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – สนข. เผย การให้บริการเรือโดยสารในพื้นที่ กทม.ปริมณฑล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกวัน และในอนาคต คาดว่าการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า จะทำให้มีผู้ใช้บริการมากกว่าวันละ 4 แสนคน มีเส้นทางเดินเรือ ระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตร
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สำนักงงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ W-Map โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ให้บริการเรือโดยสาร หน่วยงานพัฒนาเส้นทางถนน ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ร่วมงานสัมนา
โดยผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ปัจจุบันมีเรือโดยสารสาธารณะให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 5 เส้นทาง มีระยะทางรวม 77 กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นทางของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้าให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา , เส้นทางในคลองแสนแสบ ,เส้นทางในคลองผดุงกรุงเกษม ,เส้นทางในคลองภาษีเจริญ และ เส้นทางในคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งพบว่า มีท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันในรัศมี 500 เมตร เช่น ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงิน จำนวน 10 สถานี เช่น สถานีอโศก สถานีหัวลำโพง สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีบางโพ สถานีสนามไชย และสะพานตากสิน , ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีราชเทวี และสถานีบางหว้า และ ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง
อย่างไรก็ตาม การให้บริการเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำและคลอง ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา อุปสรรคต่อการเดินเรือ เช่น การรุกล้ำลำคลอง ปัญหาของประตูระบายน้ำ หรือสะพานกีดขวางการเดินเรือ ปัญหาด้านการให้บริการ เช่น เรือวิ่งเสียงดัง เรือปล่อยควันดำ หรือปัญหาด้านความปลอดภัยกรณีมีผู้โดยสารหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วน รวมทั้ง ปัญหาด้านท่าเรือโดยสาร เช่น ท่าเรือชำรุด ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือ ตลอดจนปัญหาด้านการเข้าถึงท่าเรือและเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น
สนข. จึงได้จัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ W-MAP ในลักษณะ ล้อ-ราง-เรือ เพื่อเป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ ให้ทางเลือกในการสัญจรและท่องเที่ยว รองรับความต้องการเดินทาง และการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ W-MAP จะสรุปแผนทั้งหมด ในปี 2565 โดยในอนาคต กรุงเทพ และ 7 ปริมณฑล จะมีเส้นทางเดินเรือ 476 กม. จากปัจจุบัน 77 กม. มีเส้นทางเดินเรือ ทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลอง อีก 32 คลอง จากปัจจุบัน 5 คลอง คาดว่าในอนาคต เมื่อมีการเชื่อมต่อกับระบบราง 55 จุด ผู้ใช้บริการเรือโดยสารเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเฉลี่ย 200,000 คน เป็น 400,000 คน/วัน ทั้งระบบเรือ คลองแสนแสบ เรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟาก . – สำนักข่าวไทย