ทำเนียบรัฐบาล 19 ก.พ.-ศบค.พบติดเขื้อใหม่ 130 ราย ยกกรณี “หมอปัญญา” ไม่ใช่คนแรกที่บุคลากรแพทย์ติดเชื้อ สะท้อนเป็นกลุ่มแรกที่ต้องรับวัคซีน เตรียมเสนอปรับปรุงสภาพตลาดให้ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเท
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศ วันนี้(19 ก.พ.) เพิ่ม 130 ราย เป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 61 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 55 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ พักในสถานที่กักกันของรัฐ 14 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 25,241 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นแพทย์จังหวัดมหาสารคาม ติดเชื้อจากผู้ป่วยกรณีโต๊ะแชร์จังหวัดมหาสารคาม ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 83 ราย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วยสะสมรวม 110,824,588 ราย และเสียชีวิตสะสม 2,451,458 ราย
สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิตรายที่ 83 คือ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งนพ.ปัญญาเกษียนอายุราชการจากโรงพยาบาลมหาสารคามและเปิดคลินิครักษาประชาชนในพื้นที่ มีโรคประจำตัวคือมะเร็งต่อมลูกหมาก และติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยรายที่ 2 , 9 และ11 ที่จังหวัดมหาสารคามจากกรณีโต๊ะเเชร์ โดยวันที่ 13-28 ม.ค. ผู้ป่วยดังกล่าวเข้ารับบริการที่คลินิค จากนั้นวันที่ 29 ม.ค. เมื่อนพ.ปัญญา ทราบว่าบุคคลดังกล่าวติดเชื้อโควิด จึงไปตรวจหาเชื้อ แต่ผลเป็นลบ วันที่ 31 ม.ค.เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อ คล้ายจะมีไข้ กระทั่งวันที่ 2 ก.พ.ผลยืนยันเป็นโควิด-19 จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาสารคาม และวันที่ 7 ก.พ. มีอาการปอดอักเสบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จากน้ันอาการทรุดลงต่อเนื่องและเสียชีวิตวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
“นพ.ปัญญาไม่ใช่บุคลากรรายแรกที่ติดเชื้อ เพราะระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.ถึงวันที่ 18 ก.พ. มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อทั้งสิ้น 36 ราย โดยติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ 6 ราย กระจายไปยังภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ตลอด ต้องกักตัวและหมุนเวียนปฏิบัติงานเป็นประจำ ปัจจุบันทั่วประเทศมีแพทย์ 35,388 ราย เฉลี่ยแพทย์ 1 คน ดูแลประชาชนประมาณ 1,800 คน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลจะมากกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตราการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ที่ต้องวางแผนกระจายวัคซีนที่จะเข้ามาลอตแรก เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุข ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน” ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับกรณีตลาดพรพัฒน์ จ.ปทุมธานี ซึ่งพบการติดเชื้อและกระจายไปยังแหล่งอื่น ๆ ได้แก่ นครนายก เพชรบุรี สระบุรี กทม. พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา และจังหวัดแพร่ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรณีตลาดพรพัฒน์และทุกตลาดที่แพร่ระบาดจะพบว่าเกิดจากลักษณะที่มีอากาศไม่ถ่ายเท เป็นตลาดที่มีลักษณะเหมือนโดมหรือฝาชีครอบอาหาร ทำให้อากาศไม่ระบาย รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องการเดินทางของพ่อค้าแม่ค้าที่ไปหลายตลาด
“พบว่าคนติดเชื้อมักเป็นคนที่ทำงานในตลาด อยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท เป็นเวลานาน เช่นคนขนของที่อยู่หรือทานอาหารร่วมกันในตลาด ไม่ใช่คนที่ไปซื้อของ ซึ่งตอนนี้ ตื่นตัว มีการป้องกันและใช้เวลาอยู่ในตลาดไม่นาน ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ในอนาคตอาจเสนอแผนปรับปรุงและมาตรการ เช่น ปรับโครงสร้างอาคารตลาดให้มีความโปร่ง เพิ่มการระบายอากาศ ไม่ให้มีน้ำขังหรือเพิ่มระยะห่างระหว่างแผงค้า เป็นต้น” ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว.-สำนักข่าวไทย