กรุงเทพฯ 10 ก.พ.- IRPC เผยผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 ผลการดำเนินงานเป็นบวกต่อเนื่องแม้เผชิญสถานการณ์โควิด-19 แต่ภาพรวม63ขาดทุนสุทธิ 6,152 ล้านบาท ตั้งเป้าขยายธุรกิจไปสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำมุ่งกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2563 ที่ 40,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน ที่มีรายได้สุทธิ 37,671 ล้านบาท เป็นผลมาจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมี Market GIM อยู่ที่ 6,144 ล้านบาท (11.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน รวมทั้งต้นทุน Crude Premium ที่ปรับตัวลดลง มี Accounting GIM จำนวน 7,507 ล้านบาท หรือ 13.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,608 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผลกำไรสุทธิ 1,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 เทียบกับปี 2562 บริษัทฯ มี Market GIM และ Accounting GIM ลดลง ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย ได้แก่ ราคาและปริมาณการขายลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้ง สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2563 ปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปีจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงสงครามราคาระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย โดยราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงต่ำสุดอยู่ที่ 13.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในเดือนเมษายน และเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบร่วมมือปรับลดกำลังการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมัน ประกอบกับหลายประเทศ มีรายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 6,152 ล้านบาท
ปี 2563 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินกลยุทธ์ ด้านการเติบโต (Growth) เทคโนโลยีดิจิทัลและกระบวนการทำงาน (Digital & Process) และทรัพยากรมนุษย์ (People) ควบคู่กับการสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี โดยการเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และขยายขอบเขตการลงทุนเพื่อการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและการพัฒนาธุรกิจ ให้พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น โครงการ IRPC 4.0 นำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร และพัฒนาการบริการลูกค้าสู่ความเป็นดิจิทัลทั้งระบบ โครงการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยมุ่งเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงผ่านกระบวนการทำงานแบบ Cross Function หรือ Agile New Way of Working Team (ANT) เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์ รวมทั้งโครงการ New Organization Agile Human (NOAH) พัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล เพิ่มศักยภาพของพนักงาน สร้างแรงจูงใจในการทำงาน พัฒนาภาวะผู้นำ นำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ดี และสอดรับกับการเติบโตของบริษัทฯ ต่อไปในอนาคต
สำหรับการช่วยเหลือสังคมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง ที่ศูนย์ตรวจโรคทางเดินหายใจความดันลบแบบ “One Stop Service“ หรือ “อาคารระยองรวมใจพัฒน์” ที่บริษัทฯ มอบให้กับโรงพยาบาลระยอง ได้ถูกใช้เป็นอาคารหลักในการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด–19 ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ในปี 2564 บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ตามแผนกลยุทธ์การมุ่งสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำเพื่อใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาการลงทุนผลิต Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และ Nitrile Butadiene Latex ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือทางการแพทย์ตามแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่
“นอกจากนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดตั้งห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ลดการพึ่งพาการนำเข้า และเพิ่มเสถียรภาพด้านสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน และจะสร้างการเติบโตให้กับ IRPC ในอนาคต” นายชวลิต กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเห็นชอบการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานปี 2563 ในอัตรา 0.06 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ต่อไป.-สำนักข่าวไทย