กรุงเทพฯ 20 ม.ค.- รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ยังคงสอบสวนสาเหตุ “เจ้าดื้อ” ช้างเขาใหญ่ ทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต โดยระหว่างนี้ ได้ปิดลานกางเต็นท์ทั้งที่ผากล้วยไม้ และลำตะคอง ตรวจสัญญาณจากปลอกคอ
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแถลงความคืบหน้าการดำเนินการกรณีช้างเขาใหญ่ทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิตที่ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ โดยระบุว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกำลังตรวจสอบรายละเอียดทุกด้าน จึงยังไม่สรุปว่า สาเหตุที่ช้างตัวกล่าวเข้ามาทำร้ายนักท่องเที่ยวเป็นเพราะอะไร เกิดจากภาวะตกมัน หรือหงุดหงิดจากการติดปลอกคอระบุพิกัด (GPS Collar)
สำหรับการติดปลอกคอนั้น รศ. รองลาภ สุขมาสรวง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยกล่าวว่า ได้ขออนุญาตกรมอุทยานแห่งชาติตามระเบียบในการทำวิจัย ติดปลอกคอเพื่อศึกษาเส้นทางหากินของช้างเขาใหญ่ โดยเลือกช้างที่มาติดปลอกคอจากตัวที่นำโขลง ก่อนติดที่ต้องยิงยาช้าง เป็นยาซึม ไม่ใช่ยาสลบ การติดเป็นไปตามหลักวิชาการที่ทำกันในหลายประเทศ ช้างจะรู้สึกไม่คุ้นอยู่ 2-3 วัน ที่ผ่านมาไม่พบว่า เป็นเหตุให้ช้างหงุดหงิด จากการตรวจสอบล่าสุด วันนี้ (20 ม.ค.) เจ้าดื้ออยู่ห่างจากผากล้วยไม้ประมาณ 2 กิโลเมตร เดินตามลำตะคอง มุ่งหน้ายังน้ำตกเหวสุวัต
นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ (อช.) เขาใหญ่กล่าวว่า หลังเกิดเหตุ ได้ปิดลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้และลำตะคองชั่วคราว โดยลานผากล้วยไม้อาจเสนอให้ปิดถาวร คงเหลือเฉพาะลานลำตะคองซึ่งกำลังเตรียมอุปกรณ์เตือน หากมีช้างเข้ามาใกล้ เป็นเส้นเอ็นขึงรอบลาน หากช้างมาแตะ จะส่งสัญญาณเสียงไปยังเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มาผลักดันได้ทัน ไม่เกิน 10 วันแล้วเสร็จ นอกจากนี้ตรวจสอบแล้วว่า ลานลำตะคองอยู่นอกเส้นทางหากินของสัตว์ป่า มีเฉพาะกวางเท่านั้นที่เข้ามา
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นที่ถกเถียงกันว่า เจ้าดื้ออยู่ในภาวะตกมันหรือไม่นั้น ช้างจะมีระดับฮอร์โมนเพศสูงช่วงปลายฝนต้นหนาวเนื่องจากในฤดูฝนกินอาหารสมบูรณ์ ภาวะนี้มี 4 ระยะ โดย 2 ระยะแรกยังไม่เห็นน้ำมันไหลบริเวณบริเวณใบหน้า แต่ระยะที่ 3-4 จะเห็นน้ำมันไหลได้ แม้อยู่ในช่วง 2 ระยะแรก หากมีปัจจัยกระตุ้น อาจทำให้ช้างเปลี่ยนพฤติกรรมชั่วคราวได้ ดังนั้นการเข้าท่องเที่ยวในถิ่นของสัตว์ จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเช่น ที่เขาใหญ่ได้แนะนำมาตลอดว่า หากพบช้างต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ ไม่ควรให้อาหารแก่สัตว์ป่า ทำให้พฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนได้ .- สำนักข่าวไทย