กรุงเทพฯ 12 ม.ค. – บริษัท พัทยา ฟู้ด ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องยี่ห้อนอติลุส ตั้งอยู่ใน อ. เมือง จ. สมุทรสาครเผยผังการจัดทำสถานที่สังเกตอาการแรงงานในโรงงานที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ย้ำเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อควบคุมให้การระบาดของโรคอยู่ในวงจำกัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มบริษัท พัทยา ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลและอาหารกระป๋องตรานอติลุส และ นอติลุส ไลท์ ได้เปิดเผยผังการจัดทำสถานที่สังเกตอาการแรงงานในโรงงานที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 หรือ Factory Quantine (FQ) หลังตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก 100% ในโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในตำบลมหาชัย อ. เมือง จ. สมุทรสงคราม แล้วพบผู้ติดเชื้อ 914 คน ซึ่งต่อมาคณะผู้บริหารกลุ่มบริษัทพัทยา ฟู้ด ออกหนังสือความว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วนเข้มข้นสูงสุด โดยส่งพนักงานที่มีความเสี่ยงทุกคนในการสัมผัสผู้ติดเชื้อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVD-19 ทันที และ ให้พนักงานกักตัวเพื่อดูอาการเป็นวลา 14 วัน หากพบการยืนยันว่า พนักงานติดเชื้อจะดำเนินการตามแนวทางของภาครัฐอย่างเคร่งครัด โรงงานสั่งหยุดกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อ พร้อมดำเนินการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทันที ในพื้นที่ดังกล่าวตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ให้ทุกหน่วยของบริษัทฯ ดำเนินการตามมาตรฐานสุขอนามัยขั้นสูงสุด เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงานและผลิตภัณฑ์ของเรา
ทั้งนี้ทางโรงงานจัดทำผัง FQ ในโรงงานโดยมีที่พักของผู้ต้องสังเกตอาการ 2 โรง แต่ละโรงพื้นที่ 1,000 ตร.ม. โรงที่ 1 รับได้ 306 คน โรงที่ 2 รับได้ 274 คน พร้อมแสดงภาพพื้นที่ทั้งในและนอกอาคารที่พัก ระบบรักษาความปลอดภัย สำหรับพื้นที่กองอำนวยการนั้น กำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ต้องสังเกตอาการต้องสวมชุด PPE ส่วนบริเวณที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ตรวจวัดอุณหภูมิและบันทึกผู้ป่วยเป็นพื้นที่สีเหลือง ต้องสวมถุงมือและแว่นตาด้วย
นอกจากนี้ยังจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานที่ต้องสังเกตอาการ 14 วัน ซึ่งมีทั้งจุดบริการน้ำดื่ม พัดลมระบายอากาศ พื้นที่สันทนาการที่เว้นระยะห่าง รวมถึงห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ และพื้นที่ซักล้าง
สำหรับการตรวจโควิด-19 ให้กับพนักงานในโรงงาน ทางบริษัทฯ ได้ออกเงินค่าตรวจโควิด-19 เองทั้งหมด และใช้วิธีการตรวจทางโพรงจมูก (PCR) เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า ที่ตั้งของโรงงานตั้งไม่ไกลจากตลาดกุ้งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด เมื่อตรวจพบ พนักงานติดเชื้อ จึงสั่งให้มีการกักตัวและสังเกตอาการ รวมทั้งการหยุดสายการผลิต เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อทั้งชีวิตพนักงานและรับผิดชอบต่อสังคม . – สำนักข่าวไทย