ทำเนียบฯ 17 พ.ย.- ครม.เห็นชอบแก้ไขกฎหมายอาญาอนุญาตให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (17 พ.ย.) ว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งเป็นความผิดฐานทำให้แท้งลูก มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด และ แก้ไขลดอัตราโทษญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ เป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีที่จำเป็น และสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดอาญา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากนี้จะส่งร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี หากแก้ไขไม่แล้วเสร็จ มาตรา 301 จะไม่มีผลบังคับใช้โดยปริยาย เพราะกฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้
“การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง และชีวิตของทารกในครรภ์อย่างมีดุลยภาพ สร้างความมั่นใจต่อบุคคลากรการทางการแพทย์ ในการให้บริการยุติการตั้งครรค์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และในส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกในครรภ์ ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิด จะช่วยลดภาวะตึงเครียดให้กับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตรที่มีสภาพพิการได้” น.ส.รัชดา กล่าว.- สำนักข่าวไทย