กรุงเทพฯ 3 พ.ย. – รมว.คมนาคมบินสำรวจแนวเส้นทาง สร้างทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ก่อนรายงาน ครม.สัญจร จ.ภูเก็ต รับทราบวันนี้ มั่นใจ โครงการจะเชื่อม 2 แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด ลดเวลาเดินทางเหลือ 10 นาที ลดสถิติอุบัติเหตุ เกิดประโยชน์ภาคธุรกิจท่องเที่ยว
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/418267-1024x573.jpg)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังโดยสารเฮลิคอปเตอร์ พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บินสำรวจพื้นที่โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 14,100 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม ระบุว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จะมีการรายงานให้ ครม.รับทราบแนวทางการพัฒนาโครงการ ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ระหว่าง กทพ.ประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้ เพื่อขออนุญาตการใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ หลังจากการประสานงานเรียบร้อย คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้ ครม.อนุมัติหลักการของโครงการเดือนพฤษภาคม 2564 และเริ่มคัดเลือกผู้รับสัมปทานเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างทันที และโครงการจะเสร็จปี 2570
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/418269-1024x768.jpg)
“ยืนยันว่าโครงการจะส่งผลดีต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต จากเดิมเส้นทางถนนกะทู้ป่าตองเป็นถนนคดเคี้ยวตามเขา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเดินทาง 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เมื่อโครงการเสร็จการเดินทางระหว่าง 2 แหล่งท่องเที่ยว จะใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 10 นาทีเท่านั้น” นายศักดิ์สยาม กล่าว
สำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ถือเป็นโครงการแรกของ กทพ.ที่ดำเนินโครงการในต่างจังหวัด มีลักษณะพิเศษ คือ การเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาความยาว 1.85 กิโลเมตร และจะเป็นทางพิเศษสายแรกที่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้ได้ ก่อประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวอย่างมาก นอกจากลดเวลาการเดินทาง และยังลดปัญหาอุบัติเหตุการสูญเสียในเส้นทางเดิมด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการลงทุนแบบ PPP และจากการทำผลศึกษาขณะนี้พบว่าให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าการเดินทางสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังทำการบินสำรวจแนวเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา (tram) หรือโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยเส้นทางแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และระยะที่ 2 ช่วงสถานีรถไฟท่านุ่น-สถานีเมืองใหม่ ซึ่ง รฟม.ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก ระยะทางรวม 41.7 กม. กรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้น 35,201 ล้านบาท โดยมีแนวเส้นทางเริ่มจากท่าอากาศยานภูเก็ต ก่อสร้างเป็นทางยกระดับบน ทล.4031 จากนั้นลดระดับลงสู่ระดับดินที่ ทล.4026 และปรับโครงสร้างยกระดับอีกครั้งเพื่อข้ามทางแยกสนามบินและอุโมงค์ทางลอด ทางแยกสนามบิน เลี้ยวขวาแล้วจึงลดระดับสู่ระดับดินบน ทล.402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ตโดยแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านอำเภอถลางจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดิน ระยะทางประมาณ 3 กม. ก่อนจะปรับกลับขึ้นสู่ระดับดิน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร
ต่อมาก่อนเส้นทางทางเข้าสู่แยกบางคูจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดินผ่านทางแยกบางคู (แยกบายพาส) ก่อนกลับขึ้นสู่ระดับดินเข้าสู่สถานีขนส่งผ่านเข้าเทศบาลเมืองภูเก็ต ถนนภูเก็ต และข้ามสะพานเทพศรีสินธุ์ (คลองเกาะผี) เข้าสู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก และไปสิ้นสุดเส้นทางใกล้กับท่าเรือฉลอง บริเวณห้าแยกฉลอง ปัจจุบันอยู่ระหว่าง รฟม.จัดทำเรื่องเพื่อนำเสนอกระทรวงฯ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการฯ ระยะที่ 1 และรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้จากการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบ PPP ที่เหมาะสมในเบื้องต้น คือ การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา งานระบบ และขบวนรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 30 ปี
รวมทั้งเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร และรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะช่วยสนับสนุนทางการเงินให้แก่เอกชนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ปี 2566 เสร็จและเปิดให้บริการปี 2569 .- สำนักข่าวไทย