กรุงเทพฯ 28 ต.ค-“เสรี” จี้ตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ก่อนแก้ รธน. วอนใช้เหตุผล อย่าจ้องเอาชนะคะคานกัน ไม่เช่นนั้นจะแก้ รธน. ไม่สำเร็จ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงข้อเสนอให้ 4 ฝ่ายหารือตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ว่า เป็นเรื่องที่ต้องเร่งพูดคุย และในกระบวนการนี้ อยากให้เกิดขึ้นก่อนที่จะผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเทศจึงจะเดินหน้าไปได้ เพราะหากยังคงมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีความเห็นไม่ตรงกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สำเร็จ
ส่วนที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวนั้น นายเสรี กล่าวว่า ไม่เป็นไร ปล่อยให้เป็นกลไกของสภาฯ ซึ่งหากไม่เห็นด้วยก็จะโยงใยกันไปหมด รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายใดไม่เอา แต่อยู่ที่เสียงส่วนใหญ่
ส่วนข้อเสนอหาทางออกประเทศด้วยการทำประชามตินั้น นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดประเด็นว่าจะให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างไร ซึ่งหากเป็นเรื่องที่รัฐบาลทราบ และเป็นปัญหาสำคัญของบ้านเมือง ก็สามารถทำได้ในทางกฎหมาย แต่การเสนอทำประชามติว่านายกรัฐมนตรีควรอยู่หรือลาออกนั้น เป็นข้อเสนอที่แปลก เพราะหากจะไปถามประชาชนอีกรอบ แล้วจะมีระบบเลือกตั้งไว้ทำไม เมื่อนายกรัฐมนตรีก็มาจากเสียงส่วนใหญ่ และอยากย้อนถามว่าจะใช้มาตรฐานและวิธีการเช่นนี้อีกหรือ
“ถ้าเลือกตั้งมาแล้ว ได้นายกฯ มาแล้ว อีกฝ่ายไม่พอใจ ออกมาขับไล่ พอเห็นยุ่งมาก ๆ ก็ไปถามประชาชนอีกทีหนึ่งว่าจะให้ลาออกหรือไม่ ผมว่าไม่ควรใช้วิธีนี้ในการบริหารประเทศ เพราะหากอยู่ในระบบของการเลือกตั้ง และใช้เสียงส่วนใหญ่ของคนภายในประเทศตัดสิน ก็ต้องยอมรับในเสียงข้างมาก และยุติเป็นไปตามระบบที่สร้างเอาไว้ 4 ปีให้เลือกตั้งครั้งหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะมีการไล่รายวัน หรือหากทำประชามติแล้วคนส่วนหนึ่งไม่พอใจ ก็จะออกมาไล่อีก หากการเมืองบ้านเราพอไม่พอใจก็ออกมาไล่เรื่อย ๆ แล้วทำประชามติ ต่อไปการทำประชามติก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องกำหนดว่า 4 ปีให้เลือกตั้ง เอาเป็นว่าปีละครั้งไปเลย หรือ 2 ปีครั้งไปเลย จะได้ไม่ต้องมาไล่กันบ่อยๆ” นายเสรี กล่าว
ส่วนท่าที ส.ว.ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ นายเสรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน หากมีเหตุผล ส.ว.ก็ต้องยอมรับ แต่หากต้องการเอาชนะคะคานกัน อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ก็คงจะร่วมกันยาก เพราะขณะนี้แต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง ทั้งหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเหตุผลในการแก้ไขมาพูดกัน แต่บอกได้เลยว่ารัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้การแก้ไข ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก โดยทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วม จึงกำหนดให้ในการแก้ไขจะต้องมีสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภา ในแต่ละภาคส่วนในการลงมติ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องเห็นพ้องต้องกันและมีความสามัคคีกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะสำเร็จ ไม่ใช่พูดจาให้ร้ายด่าทอ ว่ากล่าวกันตลอดเวลา ซึ่งหากหาความสามัคคีกันไม่ได้ สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สำเร็จ.-สำนักข่าวไทย