ม.ธรรมศาสตร์ 22 ต.ค.-“ปิยบุตร” ชี้นายกฯ เลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสายเกินไป จี้ลาออกให้สถานการณ์คลี่คลาย แนะเปิดสภาฯ นำ 3 ข้อเรียกร้องคณะราษฎร 63 พูดคุยหาทางออกร่วมกัน
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยคนละก้าว และยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า การตอบสนองของนายกรัฐมนตรีล่าช้าเกินไป และไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ซึ่งจากรัฐบาลจะไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดและไม่ใช้วิธีการพูดคุยแล้ว กลับใช้กฎหมายเข้าจับกุมแกนนำนักศึกษา จะยิ่งทำให้สถานการณ์คุมไม่อยู่ มากขึ้น ดังนั้นการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้ ถือว่าสายเกินไปและไม่ควรประกาศตั้งแต่แรก
“สถานการณ์ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ขาดความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมือง สิ่งที่ควรทำ คือ การลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภาสรรหานายกรัฐมนตรีโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะต้องไม่ใช่ร่างทรงของ พล.อ.ประยุทธ์ และต้องไม่สืบทอดอำนาจ แต่ต้องมาเปลี่ยนผ่านจากระบอบประยุทธ์ ไปสู่ระบอบปกติให้ได้” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ส่วนการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกสถานการณ์การเมืองในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ จะต้องดูว่าสมาชิกมีความจริงใจที่จะทางออกจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการนำข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของคณะราษฎรมาพูดคุยในสภาฯ เพื่อถกถึงแก่นของปัญหาที่แท้จริง แต่หากเปิดสภาฯ แล้วปล่อยให้ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.มาใช้เวทีของสภาฯ โจมตีกล่าวหาว่าคนที่ออกมาชุมนุมเป็นพวกล้มล้างสถาบัน ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
“ขออย่าทำแบบที่ผ่านมา ที่เปิดสภาฯ มาแล้วไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื้อเวลาเพื่อช่วยเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ ซึ่งหากยังทำแบบนี้อีก การแก้ไขปัญหาภายใต้กลไกของรัฐสภา ก็จะหมดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาที่แท้จริง ก็ควรจะลาออกในสัปดาห์หน้าเพื่อให้บรรยากาศดีขึ้น จากนั้นตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรายชื่อแคนดิเดตที่แต่ละพรรคเสนอไว้แล้ว รวมถึงเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลงมติในวาระที่ 1 และนำข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันเข้ามาพูดคุยในสภาฯ อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะต้องยอมรับความจริงว่าประเด็นเรื่องสถาบัน กลายเป็นส่วนหนึ่งความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่เริ่มมีกลุ่มคนออกมาปกป้องสถาบัน ตนมองว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถาบันจริง ๆ คือจะต้องพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การห้ามพูดถึง หรือปราบปรามจับกุมผู้ที่เห็นต่าง แต่ควรต้องปรับทัศนคติให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 เพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสม และจากเหตุการณ์ปะทะ 2 ฝ่ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) ส่วนตัวไม่เห็นว่าจะเป็นผลดีสถาบัน แต่กลับส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีทัศนคติแง่ลบต่อสถาบันมากขึ้น และยืนยันว่าข้อเสนอที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครพูดว่าประเทศไทยจะต้องไม่มีสถาบันพระทหากษัตริย์ เพียงแต่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย