กรุงเทพฯ 20 ต.ค. – ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุไทยเกิดภาวะ Shock แรง ในภาคการท่องเที่ยว และยังเผชิญความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นตัวถ่วงสำคัญ จึงจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินให้ตรงจุดมากขึ้น โดยคาดจีดีพีไทยจะเริ่มบวกไตรมาส 2/64 และกลับมาอยู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19 ไตรมาส 3/65
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 21 เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า บริบทความท้าทายในช่วงโควิด-19 ได้แก่ ภาวะ Shock แรง นักท่องเที่ยวปี 2563 เหลือ 6.7 ล้านคน จากเดิมเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท หรือหายไป 10% ของจีดีพี และการส่งออกสินค้าไตรมาส 2 ติดลบหนักสุดในรอบ 11 ปี จึงเหมือนผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในไอซียู
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จะเริ่มเห็นจีดีพีไทยเป็นบวกไตรมาส 2/2564 และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ไตรมาส 3/2565 การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากการรอคอยวัคซีน ซึ่งเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดและคุ้มค่า
ดังนั้น หากยังดำเนินนโยบายแบบช่วงแรกที่เป็นแบบปูพรมและการพักชำระหนี้ จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงินให้หายไปประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ธปท.จึงปรับนโยบายให้เป็นแบบตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร และคำนึงถึงผลข้างเคียง โดยให้ลูกหนี้ที่มีความสามารถชำระหนี้ได้ชำระหนี้ปกติ และลูกหนี้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือให้เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ โดยนโยบายมีความยืดหยุ่น เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลา เป็นต้น และรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และรักษาวินัยทางการเงิน พร้อมระบุ 5 โจทย์ใหญ่ของ ธปท. คือ แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน และต้องมีประสิทธิภาพการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ธปท.ยังติดตามสถานการณ์และพิจารณายาตัวต่อไป ซึ่งการออกยาแต่ละตัวหรือนโยบายจะต้องมีความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการสร้างสีสัน ขณะที่เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายของไทยขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาคและต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น นโยบายการคลังจึงเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่หน้าที่ของแบงก์ชาติ คือ การทำอย่างไรไม่ให้สภาพคล่องโดยรวมเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่การชุมนุมทางการเมือง มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน พร้อมยอมรับว่าอาจกระทบการบริโภค ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน แต่ประเด็นสำคัญคือไทยมักมีปัญหาในเรื่องการจัดการในประเด็นต่าง ๆ.-สำนักข่าวไทย