สำนักข่าวไทย 11 ต.ค.- ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. จัดทำโครงการ อาหารปลอดภัย Clean Food Green Goods เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชนตำบลป่ายุบใน จัดทำอาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
กลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจสนับสนุนต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานของ ปตท. ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นผู้แทนองค์กรดำเนินภารกิจดังกล่าว เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อท้องถิ่นในหลายด้าน นำไปสู่การยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โรงเรียนกำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี และปัจจุบันมีโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) ในพื้นที่
ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จึงได้จัดทำโครงการ อาหารปลอดภัย Clean Food Green Goods เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชนตำบลป่ายุบใน ในการจัดทำอาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ รองรับการเพิ่มจำนวนคนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยต่อยอดและเชื่อมโยงกับโครงการวังจันทร์ รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน หรือร้านผักวังจันทร์ ในการนำผักและผลผลิตที่เป็นอาหารปลอดภัย มาปรุงอาหารให้มีคุณภาพ มีรสชาติอร่อย ถูกหลักอนามัย สามารถรองรับการดำเนินงานจัดเลี้ยงในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์และ EECi ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตามแผนงานกลยุทธ์และแนวทางการบริหารศูนย์เรียนรู้ ปี 2562-2567
วัตถุประสงค์โครงการ
- เพื่อพัฒนาฝีมือการประกอบอาหารแก่ชุมชน ตำบลป่ายุบใน
- เพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนบริเวณโดยรอบวังจันทร์วัลเลย์
กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินงาน
ชุมชนตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
ระยะเวลาดำเนินการ
- ขั้นตอนแรก – ฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ และส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชน โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) จัดอบรมหลักสูตรการทำอาหารคาว หวาน และงานจัดเลี้ยง เพื่อเพิ่มทักษะอาชีพ
- ขั้นตอนที่สอง – ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อจัดตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจัดเลี้ยง เพื่อยกระดับกลุ่มอาชีพ และพัฒนามาตรฐานคุณภาพอาหารจัดเลี้ยง
- ขั้นตอนที่สาม – จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจัดเลี้ยง “ป่ายุบในแคทเทอริ่ง” ให้เกิดการรวมตัวกันของชุมชนตำบลป่ายุบใน โดยระดมทุนตั้งต้นธุรกิจการดำเนินการแบบพึ่งตนเอง และมีศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงหลักในการดำเนินงานกลุ่ม
- ขั้นตอนที่สี่ – กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจัดเลี้ยง “ป่ายุบในแคทเทอริ่ง” บริหารและดำเนินงานด้วยตนเอง โดยมีศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ และ ปตท. เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงในคำแนะนำด้านการตลาด โดยเชื่อมโยงช่องทางการตลาดของ ปตท. ในการกระจายสินค้าของชุมชน
ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
- ชุมชนมีทักษะด้านการประกอบอาหารที่หลากหลาย สามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว
- จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจัดเลี้ยง “ป่ายุบในแคทเทอริ่ง”
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจัดเลี้ยง “ป่ายุบในแคทเทอริ่ง” ดำเนินธุรกิจได้