สำนักข่าวไทย 27 ส.ค.- หลังจากที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับ “โรคไข้หัดแมว” ระบาดจนมีแมวล้มตายที่ จังหวัด เพชรบูรณ์ ทาสแมวทั้งหลายอาจจะกำลังกังวลใช่หรือไม่? ว่าเจ้าเหมียวสุดที่รักของเรามีอาการ หรือว่าเป็นโรคไข้หัดแมวหรือไม่ เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคไข้หัดแมวกัน
โรคไข้หัดแมว (Feline Distemper) เกิดจากเชื้อไวรัสพาร์โวไวรัส (Feline Parvovirus, FPV) หรือโรคลำไส้อักเสบติดต่อในแมว เชื้อ FPV มีความคงทนที่อุณหภูมิห้องและในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานเป็นปี สามารถทนความร้อนและความเย็นได้พอสมควร เชื้อจะถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาซักฟอกขาวความเข้มข้นร้อยละ 6
อาการของโรคไข้หัดแมว
-ไข้หวัดเฉียบพลัน
-ซึม
-เบื่ออาหาร
-อาการท้องเสีย
-ร่างกายอ่อนเพลียอย่างหนัก
แมวอายุน้อยส่วนใหญ่ ตาย อย่างรวดเร็ว โรคไข้หัดแมวไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างคนกับสัตว์
ระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน แมวสามารถติดโรคไข้หัดแมวได้จากการติดต่อโดยตรงจากแมวป่วยไปยังตัวอื่น โดยเฉพาะทางอุจจาระ ภาชนะใส่อาหาร น้ํากรงหรือที่ขับถ่ายของแมว พื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส
การป้องกันโรคไข้หัดแมว
คือการให้วัคซีนกับลูกแมวเมื่อมีอายุ 8-9 สัปดาห์ และควรให้ซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4 สัปดาห์ จากนั้นแนะนำให้ฉีดในปีถัดไป และแนะนำว่าในช่วงที่ยังให้วัคซีนไม่ครบควรจะงดพาแมวออกไปนอกบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สพ.ญ. นิรชรา ชมท่าไม้ (คลินิกอายุรกรรมทั่วไป, คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตวเมืองเอก)