แจ้งวัฒนะ 14 ส.ค.- “พล.อ.ประวิตร” ย้ำ 8 มาตราการเร่งด่วน เปิดงานเสวนา “ส่องแผนรัฐ รับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา”
วันนี้ (14 ส.ค. 63) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานพิธีเปิดพร้อมกล่าวมอบนโยบายการประชุมเสวนา เรื่อง “ส่องแผนรัฐ รับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รอดหรือไม่ ?” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และนักวิชาการ กว่า 200 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 2 อาคารศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการการดำเนินงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อเตรียมการรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา การบรรยายในหัวข้อ “9 แผนงานเพื่อบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” และการเสวนา เรื่อง “ส่องแผนรัฐ รับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รอดหรือไม่ ?” โดยมี ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต นายชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ ดร. ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร
พลเอกประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนและสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกภาคส่วน โดยในวันนี้เป็นการร่วมกันแสดงความพร้อมของหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติรับมือกับสถานการณ์ฝนในปีนี้ ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบ 8 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1)การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม 2)การปรับแผนการเพาะปลูกพืช 3)การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ 4)การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร 5)การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6)การสำรวจแม่น้ำคูคลองและดำเนินการขุดลอก กำจัดผักตบชวา 7)เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ และ 8)สร้างการรับรู้กับประชาชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นแผนรองรับสถานการณ์น้ำในเชิงป้องกัน โดยได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวล่วงหน้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขยะมูลฝอย และผักตบชวา ที่สามารถกำจัดได้แล้วกว่า 500,000 ตัน ในบริเวณต่าง ๆ 143 แห่ง รวมไปถึงการเตรียมพื้นที่รับน้ำในทุ่งเจ้าพระยา และการวางแผนกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งปีหน้าให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ นอกจาก 8 มาตรการเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลยังได้มอบหมายให้มีการจัดทำแผนงานหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเป็นแผนงานระยะยาวที่เน้นเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย จำนวน 9 แผน ซึ่งที่ผ่านมา สทนช. รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการศึกษาจัดลำดับความสำคัญ โดยเป็นการศึกษาอย่างรอบคอบให้ทุกแผนงานโครงการเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และต่อจากนี้ได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งบูรณาการแผนหลักดังกล่าวกับหน่วยงานปฏิบัติขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตร แก้ปัญหาและพัฒนาในทุกมิติต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จ ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำในพื้นที่กับภาคราชการ และสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชนด้วย
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เป้าหมายหลักของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และแสดงความพร้อมถึงการเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2563 ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงานจาก 8 กระทรวง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงรายงานความก้าวหน้าการสนับสนุนงบกลางเพื่อช่วยเหลือภัยแล้งและเตรียมการรองรับอุทกภัย ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 29,160 โครงการ โดยความร่วมมือจาก 15 หน่วยงาน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาอย่างทันท่วงที วานนี้ (13 ส.ค. 63) คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติงบกลางโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการเร่งด่วนในปี 2563 อีกจำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ ประกอบด้วย 1.ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม 2.ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ 3.ระบบประปา 4.ระบบระบายน้ำชุมชน 5.ปรับปรุงคุณภาพน้ำ 6.เครื่องจักร เครื่องมือ โดยแบ่งออกเป็นโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 17 จังหวัด มีแผนงานที่มีสถานะพร้อมดำเนินการได้ทันที จำนวนทั้งสิ้น 2,135 แห่ง ได้แก่ ระบบประปา ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม และเครื่องจักร เครื่องมือ ซึ่งนอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยภายในงานวันนี้จะมีการนำเสนอมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จะกระทบกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญระดับประเทศ และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนงานผ่านเวทีการเสวนาด้วย.-สำนักข่าวไทย