กรุงเทพฯ 8 มิ.ย. – GPSC ปรับแผนเตรียมนำเข้าแอลเอ็นจี หลังคู่แข่งได้ใบอนุญาตนำเข้า โดยศึกษาร่วมกับ ปตท.ทำแบบครบวงจร
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณายื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่น โดยศึกษาร่วมกับ บมจ.ปตท. (PTT) ทำในรูปแบบครบวงจร คาดว่าจะสรุปผลการดำเนินการในไตรมาส 3/2563 ปัจจุบันบริษัทใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง เทียบเท่า LNG เกือบ 2 ล้านตัน/ปี และมีโรงไฟฟ้าประเภท SPP ที่ใกล้จะหมดอายุ (SPP Replacement) อีก 7 สัญญา กำลังผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2565 ต้องจัดหาเชื้อเพลิงใหม่ ส่วนนี้ 6 สัญญาใช้ก๊าซฯ ส่วนอีก 1 สัญญาเป็นถ่านหิน
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของ GPSC เกิดขึ้นภายหลังผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้า 3 ราย เพิ่งได้รับใบอนุญาต Shipper เพื่อนำเข้า LNG เข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าของตนเอง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง ได้แก่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เตรียมนำเข้า LNG 300,000 ตัน/ปี ,บริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ในนามบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง (HKH) เตรียมนำเข้า LNG 1.4 ล้านตัน/ปี และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เตรียมนำเข้า LNG ในปริมาณ 650,000 ตัน/ปี
นายชวลิต กล่าวด้วยว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท. เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session :STS) ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะนำผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 มาร่วมประเมิน เบื้องต้น GPSC วางเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 63-67) จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ ไม่นับรวมกำลังผลิตไฟฟ้าประเภท SPP Replacement จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 5,026 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งวางเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน ร้อยละ 30 จาก ร้อยละ11 ของกำลังผลิตรวมในขณะนี้ และวางแผนใช้เงินลงทุนช่วง 5 ปี ประมาณ 60,000 ล้านบาท. -สำนักข่าวไทย