ก.คลัง 16 เม.ย. – “สมคิด” ยืนยันมีงบเพียงพอดูแลผู้ลงทะเบียนรับเงิน 5 พันบาท พร้อมทบทวนสิทธิ์ เปิดทางนักเรียน นักศึกษาทำงานหารายได้เสริม ต้องพิสูจน์สถานที่ทำงานจริง รัฐบาลเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภาคเอกชนรายใหญ่ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโค-19 โดยขณะนี้การดูแลเยียวยาผ่านการลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ต้องการช่วยเหลือทุกกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน แต่หากใครไม่ได้รับผลกระทบไม่ควรลงทะเบียน เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจริง ยืนยันมีเงินเพียงพอรองรับผู้เดือดร้อน หลัง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เดือนพฤษภาคมจะมีเงินเยียวยามาเพิ่มเติมให้เพียงพอครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่มีปัญหา เพื่อนำมาเติมจากการใช้งบกลางฉุกเฉิน ซึ่งจ่ายไปแล้วก้อนแรก 45,000 ล้านบาท
นายสมคิด ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง แม้จะกู้เงินเพิ่ม แต่ภาระหนี้ต่อจีดีพีถือว่าไม่สูงมากนัก ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องกู้เงินมาใช้เยียวยาประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังแนะนำให้ทุกประเทศที่มีปัญหากู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ทุกประเทศมีระดับหนี้สูงขึ้นทั้งปี 2563-2564 แต่ไทยยังมีฐานะแข็งแกร่งน่าพอใจ จึงมองว่าไทยจะผ่านพ้นปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แน่นอน โดยใช้งบประมาณของรัฐที่มีอยู่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อยอดผู้ป่วยลดลง ทุกอย่างนิ่งพอใจ หลังจากดูแลรายย่อยจากเงิน 5,000 บาท การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และดูแลสถาบันการเงิน ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก จากนั้นจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเตรียมแผนร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาคเอกชน แบงก์รัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลแรงงาน ซึ่งเดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้อยู่ในท้องถิ่น โดยมีแบงก์รัฐ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ ร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ช่วยดูแลด้านการตลาด พัฒนาสินค้า ทั้งออนไลน์ กระจายไปทั่วประเทศ เช่น ปตท. มีปั๊มน้ำมันกระจายไปทั่วประเทศ ธ.ก.ส.จึงหารือกับภาคเอกชนวางแผนจะกระจายสินค้าจากท้องถิ่นทั่วประเทศ จึงต้องให้ ธ.ก.ส.เป็นกลไกชี้นำการผลิตและเติมสินเชื่อ
นายอุตตม กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยากลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ มีอาชีพค้าขาย แม่ค้า แต่ถูกระบุว่าทำอาชีพเกษตรกร รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาทำงานพิเศษ เพื่อหารายได้ หรือผู้มีปัญหาคุณสมบัติ ขอให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 เมษายน เพื่อให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน คลังจังหวัดลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบการประกอบอาชีพจริง เสริมกับการตรวจสอบจากระบบของธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ทุกคนได้รับเงินช่วยเหลือ ยืนยันว่าจะไม่มีกลุ่มใดที่ได้รับผลกระทบถูกละทิ้ง โดยคำนึงถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริง .-สำนักข่าวไทย