กรุงเทพฯ 13 เม.ย. – บอร์ดบีโอไอ เร่งรัดการลงทุนผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมหนุนโรงงานปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลน
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วันนี้(13เม.ย. ) ทางสำนักงานบีไอไอได้นำมาตรการส่งเสริมให้มีการเร่งรัดให้เกิดการลงทุนในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการปรับเปลี่ยนสายการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลนด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเร่งรัดการอนุมัติส่งเสริมและอำนวยความสะดวกเรื่องใบอนุญาตและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มกำลังการผลิตและผลิตได้รวดเร็วขึ้น
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตหน้ากากอนามัย ที่ขณะนี้ ยังคงมีความสำคัญในช่วงของการรระบาดโควิด-19 นั้น โดยภาพรวมแล้ว ในประเทศไทยมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัย รวม 11 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 5 ราย และขณะนี้มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนอีก 6 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างลงทุนยังไม่มีการผลิต ซึ่งผู้ผลิตหน้ากากอนามัยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ไม่จำเป็นต้องผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เพราะเงื่อนไขการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ 2543 ภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก แต่ในกรณีที่ผู้ผลิตประสงค์จะผลิตเพื่อการส่งออก ก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบโดยได้รับการยกเว้นอากรได้ภายใต้มาตรา 36 ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นหลักการทั่วไปที่ใช้อยู่เพื่อทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้นและไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก
“หากผู้ผลิตหน้ากากอนามัยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตเพื่อส่งออก แต่ภายหลังต้องการจำหน่ายในประเทศ บีโอไอก็ทำได้ ไม่มีข้อห้าม เพียงแต่ต้องเสียอากรสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งในที่นี้คือหน้ากาก ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้ประกาศยกเว้นการเก็บอากรหน้ากากอนามัยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63 และยกเว้นอากรวัสดุสำหรับผลิตหน้ากากด้วย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า นอกจากบีโอไอจะไม่มีข้อห้ามแล้วผลิตต้องส่งออกเท่านั้นแล้ว ยังไม่ต้องเสียอากรสำหรับหน้ากากที่จะขายในประเทศอีกด้วย” นางสาวดวงใจ กล่าว .- สำนักข่าวไทย