ศาลรัฐธรรมนูญ 25 มี.ค.- ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชุมนุมค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 57 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าลักษณะล้มล้างการปกครอง ส่วนผิดอาญาปมขัดขวางสมัครรับเลือกตั้งต้องว่าตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซด์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องพร้อมความเห็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า การที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนายไพบูลย์ กับพวกรวม 14 คน ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อปี 57 ต่อศาลอาญาในความผิดฐานเป็นกบฏ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลเห็นว่าเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเป็นกรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายไพบูลย์ ในคดีหมายเลขดำที่อ. 832/2561ต่อศาลอาญา เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 มาตรา 116 มาตรา 117 มาตรา 209 มาตรา 210 มาตรา 215 และมาตรา 216 ยกเว้นความผิดอาญาอื่น ตามมาตรา362 มาตรา 364 มาตรา 365 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76 และมาตรา 152 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 211 วรรคสี่ และมาตรา 213
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2557 และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2557 โดยทั้งสองคำสั่งปรากฏชื่อนายไพบูลย์เป็นผู้ถูกร้องที่ 33 และศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง และการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายโดยการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลในคดีดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดและผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ต่อรัฐบาล โดยเรียกร้องมุ่งหวังที่จะให้รัฐบาลลาออก เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป และการแก้ไขปัญหาของประเทศก่อน หลังจากนั้นจึงจัดให้มีการเลือกตั้ง จึงไม่มีมูลกรณีเข้าลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา68 วรรคหนึ่ง
ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นแนวบรรทัดฐานเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองไว้แล้วว่าไม่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลรัฐธรรมดังกล่าวจึงย่อมมีผลผูกพันคู่กรณี และผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละเหตุการณ์ของการชุมนุม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 211 วรรคสี่ กรณีจึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยคดีนี้อีกตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 51 จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี.-สำนักข่าวไทย