กรุงเทพฯ 28 ก.พ.- นักวิชาการชี้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนได้ข้อมูลเชิงลึก และเห็นรอยร้าวของเพื่อไทยและอดีตพรรคอนาคตใหม่ สิ่งเหล่านี้จะมีปัญหาทำให้เกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ติดตามจากรายงาน
ศึกซักฟอกปิดฉากลงแล้ว แต่ยังมีปม-ประเด็นที่ทิ้งไว้ ให้ขบคิด ไขปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อไทย และอดีตพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้กระแสข่าวลือดีลการเมืองแลกกับการไม่อภิปรายแตะพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จนอนาคตใหม่ต้องปรับแผนใช้วิธีปราศัยนอกสภาฯ
รอยร้าวที่เกิดส่อเค้ายากจะประสาน นักวิชาการเสนอให้หาทางแก้ โดยปรับความเข้าใจ เนื่องจากสไตล์การทำงานการเมืองของอนาคตใหม่และเพื่อไทยต่างกันชัดเจน หากปล่อยไว้จะไม่เป็นผลดี ส่วนประเด็น ข่าวลือ ล็อบบี้ไม่อภิปราย พล.อ.ประวิตร อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดต้องเอาหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง
ส่วนนักวิชาการจาก ม .มหาสารคาม มองว่าเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ประชาชนได้ประโยชน์จากข้อมลูลเชิงลึก ที่ไม่เคยทราบมาก่อน เช่น ประเด็นไอโอ ที่ผู้อภิปรายหวังส่งสารไปถึงประชาชนมากกว่าสะท้อนไปยังรัฐบาล ซึ่งผลพวงจากการอภิปราย อาจทำให้มีโอกาสในการปรับคณะรัฐมนตรี แต่เป็นการปรับเล็ก
ผลการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีสะท้อนว่า ใครคือผู้คุมเสียงตัวจริง ที่ไม่เพียงคนในพรรคร่วมรัฐบาลเทใจให้ แต่ฝ่ายค้านยังแอบปันใจ จนได้คะแนนมากกว่านายกฯ ถึง 5 เสียง ส่วนคะแนนน้อยที่สุด ชี้ว่าใครคือจุดอ่อน เป็นสายล่อฟ้าของรัฐบาล
หลังจากนี้ ไม่เพียงการปรับ ครม.ที่อาจสร้างเซอร์ไพรส์ หรือความพยายามประสานรอยร้าวของเพื่อไทย-อนาคตใหม่ ที่ต้องจับตา แต่ความเคลื่อนไหวของนักศึกษานอกสภาฯ ก็เป็นสิ่งที่ต้องดู ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว หรือพัฒนาการไปในทิศทางใด.-สำนักข่าวไทย