กรุงเทพฯ14 ก.พ. – 18 ก.พ.จัดรับฟังความคิดเห็น 4 แผนหลักด้านพลังงาน นำนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนมาอยู่ในแผนสร้างรายได้แก่เศรษฐกิจฐานราก แต่ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าตลอด 20 ปี เพิ่มขึ้น 10 สต./หน่วย ด้านแอลเอ็นจีตลอดแผนนำเข้า 26 ล้านตัน โดยผุดสถานีนำเข้าภาคใต้อีก 5 ล้านตัน “สนธิรัตน์” แย้มเตรียมประกาศข่าวดีช่วงเยี่ยมแท่นเอราวัณ 1 มี.ค.
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะจัดรับฟังความคิดเห็น 4 แผนหลักด้านพลังงาน ที่ได้ครอบคลุมนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อเศรษฐกิจฐานรากไปแล้ว โดยแผนหลักยังยึดความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาที่เป็นธรรม ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าตามโรงไฟฟ้านโยบายชุมชนระยะแรก 700 เมกะวัตต์จะเปิดรับซื้อเดือนมีนาคมนี้อย่างแน่นอน
ส่วนนโยบายที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท.ไปพิจารณาเรื่อง ชะลอการใช้ก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมาไปก่อน โดยให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) มาทดแทน เพราะ ราคาต่ำกว่านั้น ในเรื่องนี้ยังรอการวิเคราะห์จากทุกฝ่ายว่าจะมีผลดี หรือผลกระทบอะไรบ้าง กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซฯ ด้วยหรือไม่ โดยคงต้องรอดูภาพรวมว่าทำได้หรือไม่อย่างไร หากทำได้ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลงและเก็บก๊าซฯ ในประเทศที่เป็นก๊าซเปียกไว้เป็นต้นทุนสำหรับการผลิตปิโตรเคมีต่อเนื่องได้ยาวนานมากขึ้น
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 1 มีนาคมนี้ จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมแท่นปิโตรเลียม “เอราวัณ” ที่ขณะนี้ดูแลโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และจะหมดอายุสัมปทานเดือนเมษายน 2565 และจะเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมร่วมกับมูบาดาลา จะเข้ามาดำเนินการต่อ โดยจะมีการประกาศแผนงานครั้งใหญ่ นับเป็นข่าวดีสำหรับกิจการปิโตรเลียมระหว่างการเยี่ยมชมแท่นเอราวัณด้วย
สำหรับแผนหลักด้านพลังงานมี 5 แผน โดยแผนที่อยู่ระหว่างทบทวนยังทำไม่เสร็จ คือ แผนน้ำมัน เนื่องจากมีการปรับตัวเลขหลังประกาศนโยบายให้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 และแก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ ส่วน 4 แผนที่พิจารณาเสร็จ ได้แก่ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว พีดีพี 2018 (ปี 2561-2580 ) แผนก๊าซธรรมชาติ (GAS PLAN 2018 ) แผนอนุรักษ์พลังงาน ( EEP 2018) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018 )
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 4 แผนหลักดังกล่าว นำเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนที่ตลอดแผน 20 ปีจะมีประมาณ 1,900 เมกะวัตต์มารวมด้วย จากแผนระยะที่ 1 ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ ซึ่งแผนนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน สร้างรายได้หลายด้านต่อเศรษฐกิจ (Multiple Effect ) แต่ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นทั้งแผนประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย จากแผนเดิมต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.59 บาทต่อหน่วย โดยสัดส่วนของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงเป็นหลัก เพิ่มจากพีดีพี 2015 จากก๊าซฯ มีสัดส่วนร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 53 ความต้องการก๊าซฯ ของประเทศปลายปี 2580 จะอยู่ที่ประมาณ 5,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มจากปี 2561 ที่อยู่ที่ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากการที่ก๊าซฯ เมียนมาและอ่าวไทย ลดลง แต่มีการประมูลแหล่ง “บงกช-เอราวัณ” เสร็จสิ้นทำให้กำลังผลิตก๊าซฯ จาก 2 แหล่งนี้อยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพี 2015 ทำให้คาดการณ์ว่าการนำเข้าแอลเอ็นจี จะลดลง จาก 34 ล้านตันต่อปี เหลือ 26 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณนำเข้าอาจลดลงอีก หากไทยมีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อร่วมมือผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันสำเร็จ
นอกจากนี้ ในการนำเข้าแอลเอ็นจีจะวางแผนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการนำเข้า ประกอบด้วย สถานีนำเข้าแอลเอ็นจีมาบตาพุด 11.5 ล้านตัน (ก่อสร้างเสร็จแล้ว) สถานีหนองแฟบ 7.5 ล้านตัน (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ) โครงการที่อยู่ในแผน อีก 2 แห่ง ได้แก่ สถานีรับจ่ายก๊าซลอยน้ำ (FSRU )โดย กฟผ. 5 ล้านตัน และสถานีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 รวมทั้งจะมีการสถานีนำเข้าแห่งใหม่ในภาคใต้อีก 5 ล้านตัน เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าสถานีนำเข้าแอลเอ็นจีจะมีมากกว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ดังนั้น ตามนโยบายจึงอยู่ระหว่างการวางแผนจะมีการนำเข้า เพื่อการส่งออกแอลเอ็นจี ตามนโยบายแอลเอ็นจีฮับในภูมิภาคนี้.-สำนักข่าวไทย