ศาลรัฐธรรมนูญ 7 ก.พ.- มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การเสียบบัตรแทนกันทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการตรากฎหมาย จึงวินิจฉัยให้สภาไปดำเนินการแก้ไขด้วยการลงมติวาระ 2 และวาระ 3 ใหม่ ก่อนส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบ และรายงานให้ศาลทราบภายใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 2 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรค 1 ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ซึ่งผลการลงมติศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อความหรือเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่อย่างใด ทั้งไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญา หรือทางจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใด คงมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับผิด รับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติแทนผู้แทน ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมอยู่ด้วยนั้น เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส.ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ซึ่งการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันไม่ได้ แต่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 ในวาระ 2 และวาระ 3 ที่ปรากฎการแสดงตนลงมติของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ที่รับเองว่าตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่มีการใช้บัตรลงคะแนนแทน ย่อมเป็นผลให้การออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริต และทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้คดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่าง พระราชบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาเรื่องของกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏชัดว่าการพิจารณาออกเสียงลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระ 2 ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต
อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ แต่การพิจารณาลงมติในวาระที่ 1 และในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก่อนนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมมทั้งให้สภาฯ รายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย
ส่วนคำร้องที่ประธานสภาฯ ส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 78 คนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นั้น เห็นว่าเหตุแห่งคำร้องดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปในคดีนี้แล้ว กรณีไม่มีเหตุจำเป็นต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีก จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย .-สำนักข่าวไทย