ธ.ออมสิน 5 ก.พ. – รองนายกรัฐมนตรีสั่งธนาคารออมสินช่วยลูกหนี้ข้าราชการ
คนระดับกลาง เกษตรกร ลดภาระบัตรเครดิต เช่าซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกร
คาดได้ข้อสรุป 1-2 สัปดาห์
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายผู้บริหารธนาคารออมสิน
เพื่อปรับบทบาทไปสู่ธนาคารเพื่อพัฒนาสังคม ช่วยเหลือทุกกลุ่ม ทั้งข้าราชการ
คนทำงานระดับกลาง พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร ด้วยการใช้ข้อมูล Big Data นำมาพิจารณาสินเชื่อผ่านพฤติกรรมในชีวิตประจำวันแทนการเน้นหลักประกันเป็นหลัก เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ธนาคารออมสินตั้งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากกระจายไปทั่วประเทศทุกจังหวัด
เพื่อให้ความรู้เติมประสบการณ์สอนด้านการตลาดไปสู่ออนไลน์
เห็นจากตัวอย่างเด็กนักเรียนขายขนมเบื้องรายได้ 700 บาทต่อวัน
เพื่อเติมความรู้พัฒนาตลาดส่งขายผ่านออนไลน์มีรายได้ 30,000 บาทต่อวัน
เป็นตัวอย่างที่ออมสินต้องส่งเสริมรายอื่นด้วยเช่นกัน
รวมถึงการจัดจ้างผู้สูงอายุทำงานหลังวัยเกษียณ
เพื่อต่อยอดการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และมอบหมายให้กับธนาคารออมสินร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อสางหนี้ให้กับข้าราชการและกลับมายืนได้อีกครั้ง
แต่ย้ำว่าการช่วยเหลือต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสมไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารออมสินเตรียมหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับรูปแบบในการปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการให้เหมาะสม
หลังจากหารือ ธปท. โดย ธปท.ให้ความสนใจปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหนี้ส่วนบุคคลและระบบการเงินทั้งระบบ
คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า
การปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการต้องศึกษารูปแบบ เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังพิจารณาภายใน
1-2 สัปดาห์นี้
แนวคิดเบื้องต้นคงต้องยืดเวลาการชำระหนี้ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบเครดิตเงินคืน
(Cash Back) สำหรับกลุ่มลูกนี้ชั้นดีชำระเงินคืนตต่อเนื่องสัดส่วนร้อยละ 90 ของจำนวนลูกหนี้ข้าราชการทั้งหมด
ส่วนข้าราชการมีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต้องดูแลให้มีวินัยเพิ่มกลับเข้าสู่กลุ่มลูกหนี้ชั้นดี
จึงเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ คาดว่าจะเริ่มช่วยเหลือข้าราชการภายในเดือนมีนาคมนี้
สำหรับสถานการณ์ภาระหนี้ข้าราชการขอกู้จากธนาคารออมสินปัจจุบัน 118,000
ราย แบ่งเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ
600,129 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51
และข้าราชการครู 489,060 ราย สัดส่วนร้อยละ 41 ทหารจำนวน
48,052 ราย สัดส่วนร้อยละ 4 และตำรวจ 45,941 ราย
สัดส่วนร้อยละ 4 ขณะนี้มียอดหนี้คงค้าง 629,138 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ของข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ
185,722 ล้านบาท และครูและบุคลากรทางการศึกษา 394,927 ล้านบาท ตำรวจ 28,064 ล้านบาท และทหาร 20,425 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย