ก.พลังงาน 16 ม.ค. – ไทย-จีนกระชับความร่วมมือพลังงาน มองลู่ทางเทรด LNG-ยานยนต์ไฟฟ้า
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมความร่วมมือด้านพลังงานไทยและจีน (THE FOURTH CHINA-THAILAND ENERGY WORKING GROUP) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือกันถึงกรอบความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน 3,000 เมกะวัตต์ ที่สิ้นสุดระยะเวลาไปตั้งแต่ปี 2561 และยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน ซึ่งจีนมีความเข้าใจว่าไทยคงไม่สามารถรับซื้อได้ เนื่องจากไทยยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าระดับสูงกว่าร้อยละ 30
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้หารือถึงความร่วมมือด้านทางด้านเทคนิคในเรื่องของพลังงานทดแทน นิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจีนก็มีความต้องการใช้ LNG และไทยก็มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการจัดหาและนำเข้า LNG และมีเป้าหมายที่จะยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน (LNG HUB) จึงมองถึงโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจีนมีความก้าวหน้าทั้งระบบตัวรถ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และแบตเตอรี่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ได้เร็วขึ้น
ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 หน่วยที่ 3 และหน่วยที่ 4 กำลังการผลิตติดตั้งหน่วยละ 1,180 เมกะวัตต์ (รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,360 เมกะวัตต์) ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสี ทางตอนใต้ของจีน ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) และรับรู้รายได้ปี 2564 จากกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเพิ่มจากการลงทุนในโครงการนี้อีก 236 เมกะวัตต์
โดยโครงการฯ นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง China General Nuclear Power Corporation (CGN) ถือหุ้นสัดส่วน 51%,Guangxi Investment Group Company Limited (GIG) ถือหุ้นสัดส่วน 39% และบริษัท Ratch China Power Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของราช กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วน 10% มีมูลค่าโครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท (40,000 ล้านหยวน) โดยจะเป็นสัดส่วนเงินลงทุนของราช กรุ๊ป ตามการถือหุ้นประมาณ 7,500 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย