กทม. 15 ม.ค.-นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเสนอตั้งหน่วยงานเจ้าภาพ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขณะที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ชี้การห้ามรถบรรทุกวิ่งในวันคี่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจการขนส่งและธุรกิจการก่อสร้างอีกด้วย
หลังปีใหม่มานี้ กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ ทางการระบุสาเหตุหลักเกิดจากรถยนต์มากถึงร้อยละ 72 โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ถึง 140,000 คัน จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุม
มาตรการเร่งด่วนนี้จะบังคับใช้เพียง 2 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้ามาเดินรถในถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกในวันคี่โดยเด็ดขาด อนุญาตให้เดินรถได้เฉพาะวันคู่ ช่วง 10.00-15.00 น. ยกเว้นรถบรรทุกขนส่งอาหารสดวิ่งได้ตามปกติ
ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มองว่ามาตรการนี้ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ เนื่องจากรถบรรทุกส่วนใหญ่วิ่งอยู่ถนนรอบนอก เข้ามาวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในเพียงวันละไม่ถึงพันคัน อีกทั้งยังผ่านการตรวจสภาพตามกฎหมายและใช้น้ำมัน B20 ลดมลพิษทางอากาศ ย้ำหากใช้มาตรการนี้จริง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้า และธุรกิจการก่อสร้างต่างๆ ยังเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มเรียกรับผลประโยชน์อีกด้วย ทางที่ดีภาครัฐควรเรียกสมาพันธ์ฯ เข้าไปหารือ เพื่อลดผลกระทบ
ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมองว่า มาตรการห้ามรถบรรทุกวิ่งในวันคี่ ช่วยแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อย เพราะสาเหตุหลักการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการจราจรที่ติดขัดทั้งวัน การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 6 โครงการ บน 10 ถนนสายหลัก และการมีตึกสูงเกิน 8 ชั้น กว่า 2,800 ตึก และมีตึกสูงเกิน 100 เมตร มากเป็นอันดับ 6 ของโลก จึงไปขวางทิศทางลม ทำให้มีฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน แนวทางจะแก้ปัญหาได้คือ ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพหลัก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสั่งการมาตรการต่างๆ โดยไม่ต้องรอเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ ครม. ซึ่งจะไม่ทันการณ์
และยังมีการเสนอให้พัฒนาระบบการแจ้งข้อมูลฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทม์ ไม่ใช่การแจ้งข้อมูลย้อนหลัง 24 ชั่วโมง เหมือนที่ทำอยู่ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาป้องกันตนเอง ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น เช่น งดการเผาในที่โล่ง และลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในช่วงเกิดวิกฤติฝุ่นละออง.-สำนักข่าวไทย