รัฐสภา 8 ม.ค.-กมธ.เสียงข้างน้อย – ฝ่ายค้าน อภิปรายงบ 3.2 ล้านล้านบาท ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ตั้งงบสูงเกินจริง ไม่สอดคล้องอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ ไม่สอดคล้องนโยบายฝ่ายการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รายมาตราในวาระที่ 2 มีสมาชิกจำนวนมากถึง 68 คน แปรญัตติ แต่ประสงค์จะอภิปรายประมาณ 14 คน ในมาตรา 4 เกี่ยวกับภาพรวมงบประมาณ 3.2 ล้านบาท
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคเพื่อไทย เห็นตรงกันว่า การพิจารณางบประมาณในรอบนี้มีความผิดปกติในหลายเรื่อง อาทิ รัฐบาลไม่ได้เขียนเรื่องเงินนอกงบประมาณไว้ในร่าง แสดงให้เห็นว่ามีเงินส่วนหนึ่งที่รัฐบาลใช้จ่ายโดยไม่ผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงกังวลว่าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้อาจนำไปสู่การยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบได้
กรรมาธิการเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่งอภิปรายขอตัดงบประมาณที่ร้อยละ 15 หรือ 480,000 ล้านบาท โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่แปรญัตติอภิปรายว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ต้องปรับตัวใหม่ เพราะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเงื่อนไขบังคับหลายเรื่อง แต่งบประมาณบางกระทรวงกลับได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพ และงบประมาณควรจะคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือจีดีพี
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การตั้งงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าจีดีพีเติบโตที่ร้อยละ 3 ถึง 4 แต่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และคาดว่าการจัดเก็บรายได้จะไม่ถึง 2.731 ล้านล้านบาท ตามที่ตั้งไว้ รวมถึงปรากฏการณ์เงินบาทแข็งค่า จะทำให้การเก็บภาษีส่งออกลดลง ประกอบกับการตั้งงบประมาณไม่ตอบสนองความเดือดร้อนประชาชน แต่เป็นการจัดงบประมาณตามวิธีการงบประมาณปกติ จึงเห็นสมควรว่าต้องปรับลดงบประมาณ
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานจริง ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการ เช่นกรมวิชาการเกษตรตัดงบโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็น แม้มีหลายๆ หน่วยงานทำหน้าที่ชี้วัด แต่ไม่มีการประเมินผลอย่างจริงจัง ขณะที่การปฏิรูประบบราชการไม่เป็นผล มีหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มรายจ่ายประจำปีขึ้นไปด้วย และมีหลายหน่วยงานราชการทำงานซ้ำซ้อนและทำงานในภารกิจที่ไม่จำเป็น และชี้ว่ามีงบประมาณในอนาคตถูกใช้ไปแล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการก่อหนี้ผูกพันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. จากโครงการประกันรายได้
นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ ชี้แจงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ อย่างการใช้งบกลางในการแก้ไขภัยแล้ง ขณะที่สมมติฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากถึงสภาพเศรษฐกิจที่มีผลจากต่างประเทศ แต่หากปรับลดประมาณต่ำกว่า 3.2 ล้านบาท สิ่งที่ปรับลดไม่ได้แน่ๆ คือรายจ่ายประจำที่มีอยู่กว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด และหากมีการปรับลดก็จะกระทบต่องบลงทุน จึงควรใช้วิธีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพแทนที่จะใช้วิธีการปรับลด ส่วนภาระหนี้สาธารณะ จากการชดเชยรายจ่ายที่ขาดดุลซึ่งตั้งไว้ 469,000 ล้านบาท แต่ยอดเงินกู้จริงๆ จะอยู่ประมาณ 389,000 ล้านบาท เพราะหักลบงบที่จัดสรรใช้หนี้เงินกู้ไปแล้ว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงได้ว่าไม่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว พร้อมย้ำว่าช่วงแรกของปีงบประมาณ 2563 เดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม ยังสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่ 6,349 ล้านบาท ที่มาจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดเก็บรายได้ โดยดึงกลุ่มที่ไม่ได้เสียภาษีกลับมาเสียภาษี พร้อมย้ำว่าค่าเงินบาทเริ่มอ่อนตัวแล้ว แม้ค่าเงินบาทแข็งอยู่ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ด้านดีก็ได้เปรียบเกี่ยวกับการนำเข้า
ส่วนความกังวลว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ว่ามีรับฟังความคิดเห็นหรือไม่นั้น นายสันติกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ส่งมาจากสำนักงบประมาณมีการชี้แจงรายละเอียดการรับฟังความคิดเห็นการกระทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญทุกประการ
นายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายภาพรวมงบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยต้องการให้มีการออกแบบงบประมาณที่สอดคล้องสถานการณ์ คือปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น พึ่งพิงการส่งออกไม่ได้แล้ว ภาคเอกชนเลิกลงทุน ซึ่งตัวทดแทนคือการลงทุนของรัฐบาล แต่เมื่อเทียบกับจีดีพีสัดส่วนลงทุนกลับลดกว่าปี 2562 ขณะที่หนี้เสียยังมีประชาชนถูกฟ้องล้มละลายนับล้านคน โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ประชาชนมีพฤติกรรมใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป ใช้จ่ายผ่านระบบอีคอมเมิช เอสเอ็มอีแข่งขันไม่ได้ รายได้กว่าร้อยละ 60 อยู่ที่ผู้ประกอบการร้อยละ 5 เท่านั้น ตลอดจนการรองรับโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นสังคมสูงอายุ ภาวะโลกร้อน และความเปลี่ยนเปลงทางเทคโนโลยี และอยากให้รัฐบาลคำนึงถึงความจำเป็นในการจัดงบประมาณที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าภาษีถูกใช้เพื่อประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย