กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – เกษตรฯ เตือนป้องกันศัตรูพืชระบาดฤดูหนาว หลังพบหนอนด้วงเจาะไชอ้อย สวนส้มมีไรแดงแอฟริกันเข้าทำลายใบและผลร่วง และแมลงดำหนามเข้าทำลายสวนมะพร้าว
น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ฤดูหนาวอากาศแห้งแล้ง เตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อยเข้าทำลายระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตถึงระยะแตกกอของอ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอ เริ่มแรกจะพบการเข้าทำลายของหนอนด้วงเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ตั้งแต่เริ่มปลูกอ้อย ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก หน่ออ้อยอายุ 1–3 เดือน จะถูกหนอนด้วงกัดกินตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออก หน่ออ้อยแห้งตาย เมื่ออ้อยมีลำแล้วจะพบว่าการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาวอ้อยจะทำให้กาบใบและใบอ้อยแห้งตายทั้งต้นหรือทั้งกออ้อย หนอนขนาดเล็กจะกัดกินเหง้าอ้อยยังทำให้ระบบส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง เมื่อหนอนใหญ่ขึ้นจะเจาะไชโคนลำต้นขึ้นไปกินเนื้ออ้อยทำให้ลำต้นเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ลำต้นหักล้มและแห้งตายในที่สุด
ทั้งนี้ เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสาน คือ การใช้วิธีกลโดยให้ไถพรวนดินแล้วเดินเก็บตัวหนอนและดักแด้ตามรอยไถในช่วงก่อนปลูกอ้อยในช่วงค่ำให้จับหรือเดินเก็บตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวในแปลงอ้อย ส่วนอ้อยระยะแตกกอ ถ้าพบกออ้อยที่มีหน่ออ้อยแห้งตายให้ขุดกออ้อยและเก็บตัวหนอนด้วงหนวดยาวอ้อยออกไปทำลาย การใช้ศัตรูธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช อ้อยปลูกให้โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมชิดกออ้อยแล้วกลบดิน อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หากระบาดรุนแรงใช้สารเคมีช่วยในการป้องกันกำจัดชนิดน้ำ โดยอ้อยปลูกให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วพ่นชิดกออ้อยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ และให้กลบดิน แบบชนิดเม็ด อ้อยปลูก ให้โรยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยบนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยชิดกออ้อยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วให้กลบดิน หากมีความชื้นในดินจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมและสารเคมีมากขึ้นในฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าจะมีอากาศเย็นถึงหนาว แต่กลางวันมีอากาศร้อน ไรแดงแอฟริกันจะระบาดในสวนส้มเขียวหวาน โดยเฉพาะระยะติดผล ซึ่งจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่หน้าใบ กรณีที่มีการระบาดรุนแรงอาจพบการทำลายของไรที่หลังใบและผลส้มเขียวหวาน ทำให้ใบและผลมีสีเขียวจางลงเพราะสูญเสียคลอโรฟิลล์ หากมีการระบาดรุนแรงอาจทำให้ใบและผลร่วง ซึ่งแนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจใบส้มทุกสัปดาห์ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนพฤษภาคมและจะพบระยะฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม หากสังเกตเห็นใบส้มเริ่มมีสีจางลงใช้แว่นขยายส่องดูบนใบพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดทำลายอยู่ทั่วไป ให้พ่นด้วยสารฆ่าไรชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ สารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฮกซีไทอะซอกซ์ 2% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโบรโมโพรไพเลต 25% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารฆ่าไรเหล่านี้ค่อนข้างปลอดภัยต่อตัวห้ำ ตัวเบียน และผึ้ง หลีกเลี่ยง การพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิดกัน เพื่อป้องกันไรสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าไร หากพบว่ายังมีไรแดงแอฟริกันระบาดให้พ่นสารฆ่าไรอีกครั้งหนึ่ง โดยเว้นระยะห่าง 5 วัน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดที่มีแหล่งปลูกมะพร้าว ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืชลงพื้นที่สำรวจการเข้าทำลายพร้อมให้คำแนะนำการดูแลสวนมะพร้าวให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อรับมือการระบาดของแมลงดำหนามช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังสั่งให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ. สุพรรณบุรีและศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ. ชลบุรี ผลิตขยายพ่อแม่พันธุ์แตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว เพื่อให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ที่มีศักยภาพในพื้นที่นำไปผลิตขยายและมอบให้ชาวสวนมะพร้าวที่มีพื้นที่ระบาดของแมลงดำหนาม ทั้งนี้ กรมฯ เคยผลิตและปล่อยเพื่อควบคุมแตนเบียนเพื่อควบคุมการระบาดของแมลงดำหนามได้ผลมาแล้ว อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตมะพร้าวได้ดี
นายเข้มแข็ง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันแมลงดำหนามเป็นแมลงศัตรูมะพร้าวประจำถิ่นเข้าทำลายมะพร้าวตลอดปี โดยระบาดรุนแรงช่วงฤดูแล้ง (พ.ย.– เม.ย.) ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าวจะซ่อนตัวในใบอ่อนและกัดกินยอดอ่อน โดยเฉพาะยอดที่ยังไม่คลี่ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวหยุดเติบโต หากต้นมะพร้าวถูกทำลายรุนแรง ทำให้ทางใบที่ถูกทำลายแห้งกลายเป็นสีน้ำตาลมองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน หรือที่ชาวสวนมะพร้าวมักเรียกว่า “โรคหัวหงอก” หากเกษตรกรพบการระบาดไม่รุนแรง ให้ตัดยอดที่ถูกแมลงดำหนามทำลายออก หรือปล่อยแมลงหางหนีบ หรือแตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว หรือใช้เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียมควบคุมการระบาดได้ ส่วนกรณีพบการระบาดรุนแรงให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรม ได้แก่ มะพร้าวต้นเตี้ยใช้สารเคมี cartap hydrochloride 4% GR อัตรา 30 กรัม/ต้น ห่อใส่ถุงผ้าเหน็บไว้ที่ยอดมะพร้าว จะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้ 1 เดือน สำหรับมะพร้าวต้นสูงให้ใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 50 ซีซี/ต้นจะมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน.-สำนักข่าวไทย