กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – สอน.ยืนยันปรับสูตรคำนวณราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน ไม่ทำให้น้ำตาลขายปลีกในประเทศแพงขึ้น
นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายหรือ สอน. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า การปรับสูตรคำนวณราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ส่งผลให้ราคาน้ำตาลขายปลีกในตลาดปรับเพิ่มขึ้น 3-4 บาท ว่า จากการสำรวจราคาล่าสุดของ สอน.พบว่า ราคาขายปลีกน้ำตาลในประเทศไม่ได้ปรับขึ้น ราคาขายปัจจุบันยังคงต่ำกว่าในอดีตก่อนลอยตัวราคาน้ำตาลด้วยซ้ำไป
สำหรับการปรับสูตรการคำนวณราคาหน้าโรงงานที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีล่าสุดนั้น ไม่มีผลกับราคาขายปลีกน้ำตาลในภาพรวมของประเทศ และในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ โดยขณะนี้ราคาขายอยู่ในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าราคาขายหน้าโรงงานตามสูตรใหม่ ทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้นกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ใช้วิธีการสำรวจราคา แต่ไม่ได้สูงถึง 4 บาท สูงขึ้นเพียง 1 บาทเศษเท่านั้น โดยการคำนวณราคาน้ำตาลสูตรใหม่ ทำให้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานเพิ่มขึ้น โดยน้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ 17.25 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำตาลทรายขายบริสุทธิอยู่ที่ 18.25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังเป็นราคาน้ำตาลที่ต่ำกว่าก่อนประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ และในอดีตด้วยซ้ำไปที่มีการกำหนดราคาขายหน้าโรงงานคงที่ไว้ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม
แหล่งข่าวโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย กล่าวว่า การปรับสูตรคำนวณราคาน้ำตาลหน้าโรงงานใหม่ ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับราคาน้ำตาลในประเทศปรับเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศ ขึ้นกับหลายปัจจัยโดยเฉพาะปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลก ที่ขณะนี้ยังตกต่ำอยู่ในระดับประมาณ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ไม่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งราคาเคลื่อนไหวในช่วงนี้มาประมาณ 1 ปีแล้ว เนื่องจากยังคงมีน้ำตาลส่วนเกินให้บริโภคอีกมาก หรือกล่าวอีกนัยคือ ยังคงมีน้ำตาลเกินกว่าความต้องการของตลาดโลก แม้ว่า ผลผลิตที่จะออกมาในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในภาพรวมทั้งโลกในการสำรวจเบื้องต้น มีแนวโน้มลดลงก็ตาม ประกอบกับประเทศบราซิลผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก ประสบภาวะเงิน “เรียล”อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับขึ้นไม่ได้
อีกประเด็นที่เป็นผลด้านจิตวิทยา ไม่มีผลต่อราคามากนัก คือ แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลที่ลดลง จากความห่วงใยด้านสุขภาพ มีการจัดเก็บภาษีความหวาน ปัจจัยเหล่านี้ ย่อมทำให้ความต้องการน้ำตาลลดลง ไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น เพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 2 ต่อปีอย่างที่ผ่าน ๆ มา
สำหรับประเทศไทยก็เช่นกันราคาน้ำตาลยังไม่เพิ่มขึ้น แม้ผลผลิตอ้อยปีนี้ฤดูการผลิตปี 2562/2563 จะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 100-110 ล้านตันจากฤดูปี 2561/2562 ที่มีผลผลิตอ้อยมากกว่า 130 ล้านตันอ้อย ผลผลิตลดลง 20 ล้านตันอ้อย ส่งผลให้ผลิตน้ำตาลที่จะผลิตได้ลดลง 2 ล้านตัน ประมาณการผลผลิตจะเหลือกว่า 12 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการบริโภคน้ำตาลในประเทศประมาณ 3 ล้านตันหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งหมดแต่ละปี น้ำตาลส่วนใหญ่อีกประมาณ 8 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 70 ยังต้องพึ่งการส่งออกอยู่ดี แต่น้ำตาลยังล้นตลาดโลก ราคายังตกต่ำ โรงงานน้ำตาลส่งออกไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็น จึงเอาตัวรอดนำน้ำตาลที่จะส่งออกมาขายขาดทุน 1-2 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศปรับลดลงไปอีก จากที่ก่อนหน้านี้เคยอยู่ในระดับ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงมาเหลือ 19 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปรับลดลง 3-4 บาทต่อกิโลกรัม
ซึ่งการขายน้ำตาลขาดทุนของโรงงานน้ำตาล หากทำต่อเนื่องทำให้ที่สุดแล้วจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” โรงงานและอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดเล็กจะอยู่ได้ ขณะเดียวกันรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลร้อยละ 70 เป็นของชาวไร่อ้อย ดังนั้น ชาวไร่อ้อยและฝ่ายราชการ จึงไม่ยอมให้มีการขายขาดทุนต่อไป ต้องการให้โรงงานน้ำตาล ขายในราคาที่ครอบคลุมต้นทุน โดยขณะนี้ ฝ่ายโรงงานน้ำตาลได้ปรับสูตรราคาขายน้ำตาลในประเทศ โดยใช้สูตร COST PLUS พิจารณาต้นทุนครอบคลุม 2 ส่วนคือ ต้นทุนปลูกอ้อยและต้นทุนการผลิตน้ำของโรงงานน้ำตาล บวกมาร์จิ้นร้อยละ 15 ทำให้ระดับราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ระดับประมาณ 18-19 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น เมื่อบวกต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนผู้ค้าส่ง ค้าปลีกอีกเล็กน้อย ราคาน้ำตาลจะเพิ่มมาอยู่ที่ประมาณ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคานี้ยังต่ำกว่าราคาเดิมที่ขาย 24 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น การที่ระบุว่าราคาน้ำตาลในประเทศเพิ่ม 3-4 บาทไม่จริง แต่อาจจริงในแง่ของราคาปรับขึ้นหลังแข่งกันลดราคาทุ่มตลาดน้ำตาลในประเทศ หากมีการปรับขึ้นราคาน้ำตาล 3-4 บาทจริง ระดับราคาน้ำตาลในประเทศขณะนี้จะต้องอยู่ในระดับ 25-26 บาทต่อกิโลกรัม. –สำนักข่าวไทย