กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – คณะทำงานกรมป่าไม้และ ส.ป.ก.นัดตรวจสอบการครอบครองที่ดินของ “ปารีณา” 24 พ.ย.นี้ แจ้ง “ปารีณา” แล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะมานำชี้แนวเขตหรือไม่
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า คณะทำงานของกรมป่าไม้ประสานกับคณะทำงานสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อเข้าตรวจสอบที่ดินฟาร์มไก่ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หมู่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี วันที่ 24 พฤศจิกายน โดยส.ป.ก.ทำหนังสือแจ้ง น.ส. ปารีณา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินนำชี้แนวเขต แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะมาหรือไม่ ซึ่งรัฐไม่มีอำนาจบังคับ การรังวัดครั้งนี้จะทำอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขต ส.ป.ก.จำนวนเท่าไรและอยู่ในเขตป่าไม้หรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนจึงจะกำหนดแนวทางการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ประสานกับทุกหน่วยงานดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภท เพื่อเร่งปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) เพื่อสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ผ่านมาติดขัดเรื่องการทับซ้อนของแนวเขต ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้จัดทำ One Map ให้เสร็จ เพื่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะดำเนินการนำที่ดินของรัฐที่ถูกครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาจัดสรรสิทธิ์ให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกิน สำหรับกระทรวงที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เนื่องจากที่ดินของรัฐมีทั้งป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ดินเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน ที่ราชพัสดุ ที่นิคมสร้างตนเอง ขณะนี้แต่ละหน่วยงานมีเพียงข้อมูลของตัวเองเท่านั้น จึงต้องปรับแนวเขตให้ถูกต้องและตรงกัน
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ตามมติ ครม.วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 กำหนดให้ผู้ยากไร้และผู้ที่เข้าทำกินก่อนปี 2557 ได้รับการพิจารณาจัดสรรสิทธิ์ตาม คทช. แต่หากบุกรุกหลังปี 2557 ต้องถูกดำเนินคดี รัฐไม่ได้มุ่งที่จะเอาผิดหรือขับไล่กลุ่มดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ต้องให้อยู่ในการจัดระเบียบของรัฐ เพราะที่ดินเป็นของรัฐ แต่รับรองสิทธิ์ให้อยู่และทำกินอย่างถูกต้อง ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือที่สาธารณะอื่น ๆ ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานภาพและสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปทำกินนานแล้วหรือทำกินอยู่เดิมนั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงให้กลับมาเป็นสภาพป่า การแก้ปัญหาต้องสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
“การปรับปรุง One Map จะกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุดและกระทบประชาชนน้อยที่สุด เมื่อเสร็จจะเสนอ คทช.เพื่อพิจารณาเรื่องการจัดสรรสิทธิ์แก่ผู้ไม่มีที่ดินทำกิน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้ด้วย” นายอรรถพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย