ก.คลัง 15 พ.ย. – “สมคิด” ยืนยันไทยไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ ต่างชาติทยอยเข้าพบหารือขยายลงทุนไทย ไม่หวั่นปัจจัยเสี่ยง สั่งคลังเตรียมออกมาตรการรองรับเศรษฐกิจชะลอตัว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคลัง ย้ำว่า นักลงทุนรายใหญ่ทยอยติดต่อเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (CCPIT) นำกลุ่มนักลงทุนมณฑลกวางตุ้งของจีนเข้ามาขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยังมีกลุ่มผู้บริหารไมโครซอร์ฟและอเมซอน ยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลของสหรัฐ รวมทั้งประธานสภาธุรกิจอังกฤษ-อาเซียน และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ( JBIC) นับว่าต่างชาติแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยสูงมาก จึงขอให้กระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกต่อการเข้ามาขยายการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะต่างชาติยังทยอยเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงว่าไทยยังมีโอกาสสูงมาก เพราะความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย มองเห็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้กังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยง แม้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงเตือนระวังการลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ จากสภาเศรษฐกิจโลก
นายสมคิด จึงหารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินสถานภาพเศรษฐกิจไทยทุกด้านเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมมาตรการออกมารองรับในช่วงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ยอมรับว่าแรงซื้อสินค้าและการบริโภคด้านต่าง ๆ ของไทยเริ่มดีขึ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลโครงการชิมช้อปใช้เริ่มส่งผลออกมาในช่วงไตรมาส 3 จึงเป็นสัญญาณที่ดีและน่าพอใจ ยอมรับว่าการส่งออกน่าเป็นห่วง เพราะกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง จึงหวังรายได้จากการส่งออกยากขึ้น และสั่งเข้มงวดการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บรายได้หลักให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต แต่ต้องไม่บั่นทอนการบริโภคของประชาชน ส่วนคำสั่งนายกรัฐมนตรีเปิดทางให้นำเงินสำนักงานประกันสังคมออกมาปล่อยกู้เพื่อการลงทุนนั้น เป็นเรื่องพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเงินกองทุนเหล่านี้ควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ต้องนำใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัยไม่กระทบต่อฐานะหรือสมาชิกกองทุน สปสช.
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องดูแลเศรษฐกิจภาพรวม เพื่อพิจารณาว่ามีมาตรการที่เหมาะสม และช่วงเวลาจำเป็น เพื่อออกมาดูแลเศรษฐกิจขณะนี้ การจัดสรรงบประมาณปี 2563 จะเริ่มใช้จ่ายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 มาตรการแต่ละด้านต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าใช้งบประมาณ โดยเร่ิมทำมาแล้วไม่ได้รองบปี 63 เพราะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด
“การเสนอข่าวช่วงนี้มีความเปราะบาง อยากให้ระมัดระวัง เพราะหากกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศจะไม่เกิด การบริโภคไม่เกิดขึ้น หากเศรษฐกิจไทยไม่ย่ำแย่ตามที่เป็นข่าว แม้ได้รับผลกระทบจากการค้าโลก ต้องช่วยกันฟันฝ่าไปให้ได้ ประเทศอื่นแย่กว่าไทย เพราะข่าวที่ออกไม่ใช่ครบถ้วน ไม่ใช่ข่าวจริง หากข้อมูลใดออกมาไม่ชัดเจน ขออย่าสรุปตามข้อมูลดังกล่าว จึงขอให้ระมัดระวัง เพราะไทยไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ในระยะสั้น ทั้งปัญหาหนี้เสีย เพราะไทยผ่านปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ทั้งหนี้เสียสูง ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินจริง เก็งกำไร แต่ปัจจุบันไม่มีสัญญาณดังกล่าว ต่างชาติยังรับรู้ จึงทยอยเข้ามาขยายการลงทุน” นายสมคิด กล่าว
สำหรับข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นั้น เป็นการสอบถามภาคเอกชน เพื่อขอความเป็นต่อการเข้ามาลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อประเมินว่าทั้งโลกมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง 30 ปัจจัย จึงสำรวจความเห็นนักธุรกิจแต่ละประเทศ เพื่อให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยง 30 ประการต้องให้ความสำคัญ ในส่วนของไทยเอกชนให้ความเห็น 5 ด้าน ต้องให้ความระวัง คือ เศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่ได้หมายความว่าไทยมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะคำถาม คือ ในช่วง 10 ปีข้างหน้าควรระมัดระวังปัจจัยอะไร ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจมีสภาพอย่างไร
การโจมตีทางไซเบอร์ เรื่อง Governance แปลบอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแปลความผิดเพี้ยน จึงพาดหัวว่า “สภาธุรกิจไทยระบุว่าไทยมีความเสี่ยงที่สุด” นับว่าเป็นคนละเรื่องกัน ผลจึงเกิดกับประเทศไทยสูงมาก จึงขอให้ระวังการนำเสนอข้อมูล เพราะประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นเจอหนักกว่าไทย ทั้งการว่างงาน เรื่อง Governance เรื่องฟองสบู่ หนักกว่าไทย แต่กลับมาทำให้ไทยดูแย่มากกว่าประเทศอื่น ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีต้องเสนอข้อมูลอย่างระมัดระวัง การแถลงข้อมูลต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ควรแปลผิดแปลถูก จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความระมัดระวัง
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ประเด็นความเสี่ยงที่ WEF ได้จากการสำรวจความเห็นของภาคธุรกิจนั้น ถือเป็นประเด็นที่เตือนล่วงหน้าให้ประเทศต่าง ๆ มีแนวทางรองรับและป้องกัน ซึ่งในส่วนของไทยหลายด้านมีมาตรการออกมาล่วงหน้า และบางด้านกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งการปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงเหล่านี้ ถือว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้านที่จะทำให้เดินหน้าต่อไปได้ ทั้งความเข้มแข็งของเศรษฐกิจมหภาค ความสามารถและศักยภาพในการปรับตัวของผู้ส่งออกและผู้ประกอบการของไทย แนวนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรและเอสเอ็มอี การส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และนโยบายที่จะเดินหน้าพัฒนาภาคบริการใหม่ ๆ ที่จะเป็นกลไกสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นให้คนไทยและเศรษฐกิจไทย เช่น ดิจิทัล ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และ Wellness ดังนั้น ประเด็นความเสี่ยงด้านการประกอบธุรกิจของไทย ถือว่ารัฐบาลรับมือไว้แล้ว จึงไม่น่ามีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตต่อไปได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย