15 พ.ย. – พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 2/2562เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานคนที่ 1 นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่รองประธานคนที่ 2 และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ทำหน้าที่กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้มีหารือเกี่ยวกับรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงาน ปี พ.ศ.2560 และนำผลการติดตามการประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน ปี พ.ศ.2560 ประกอบในรายงานความก้าวหน้ารายสองปีฉบับถัดไป ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี พ.ศ.2560 จำนวนทั้งสิ้น 51.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งคิดเป็นการลดได้ร้อยละ 14
โดยเทียบเคียงกับกรณีพื้นฐานในภาคพลังงานและขนส่ง โดยในระหว่างปี พ.ศ.2564–2565 ประเทศไทยมีแผนที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 53 และ 55 ล้านตันคาร์บอนได้ออกไซต์เทียบเท่า ตามลำดับ โดย สผ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินงานตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งมีระบบการ MRV (การวัดผล การรายงานผล และการตรวจสอบพิสูจน์ผล) ที่จะยืนยันผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก
นอกจานั้นที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมในข้อริเริ่ม Nitric Acid Climate Action Group (NACAG) Initiative เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตกรดไนตริก และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยข้อริเริ่ม NACAG เป็นการสนับสนุนการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการผลิตกรดไนตริก ของประเทศกำลังพัฒนา โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะให้การสนับสนุนทางเทคนิคและการเงินในการติดตั้งเทคโนโลยี และอบรมเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งการเข้าร่วมข้อริเริ่ม NACAG จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจกสู่ภาคเอกชนในประเทศไทย และสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในสาขาอุตสาหกรรม .- สำนักข่าวไทย