ธปท. 12 พ.ย. – สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ วิเคราะห์งบการเงินรายปีของบริษัทกว่า 750,000 ราย ครอบคลุมระยะเวลากว่า 10 ปี ผลการศึกษาสะท้อนโครงสร้างของภาคธุรกิจที่น่าเป็นห่วงหลายด้าน ทั้งการกระจุกตัวของรายได้ที่สูงอย่างต่อเนื่อง การผูกขาดทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น แนะนำให้ส่งเสริมการแข่งขัน เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ ควบคู่ไปกับการยกระดับผลิตภาพของภาคธุรกิจไทย
นายอาชว์ ปวีณวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยศึกษาเกี่ยวกับภาคธุรกิจไทย พบว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดร้อยละ 5 มีรายรับรวมสูงถึงร้อยละ 85 ของรายรับทั้งหมดของภาคธุรกิจไทย และการกระจุกตัวมาอย่างน้อยกว่า 10 ปีแล้ว ขณะที่บริษัทขนาดกลางมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่มีปัญหาข้อจำกัดด้านสินเชื่อ ส่วนบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากมีปัญหาผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ อำนาจตลาดของธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 แสดงถึงแนวโน้มของการแข่งขันที่ลดลง โดยอำนาจตลาดของบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงอยู่แล้วเพิ่มขึ้นเร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทในภาคบริการมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัทในภาคการผลิต และบริษัทในกลุ่มทุนมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัทที่ไม่ใช่กลุ่มทุน
ทั้งนี้ บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงสุดร้อยละ 5 แรกของประเทศอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม และการผลิตอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมที่มีอำนาจตลาดสูงขึ้นมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การขนส่งทางน้ำ ตัวแทนธุรกิจจัดการเดินทางและธุรกิจจัดนำเที่ยว คลังสินค้า ธุรกิจบันเทิง และภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ส่วนธุรกิจที่มีอำนาจตลาดลดลง ได้แก่ โทรคมนาคม สิ่งพิมพ์ กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมบริการสารสนเทศ และร้านอาหาร
ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีผลทางลบต่อแรงจูงใจของบริษัทในการลงทุนและส่งออก โดยบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงมีอัตราการลงทุนและอัตราการเติบโตของผลิตภาพต่ำ มีแนวโน้มที่จะส่งออกน้อย เมื่อส่งออกก็มีโอกาสอยู่รอดในตลาดต่างประเทศต่ำ และขาดแรงจูงใจในการขยายจำนวนประเทศผู้ซื้อและจำนวนผลิตภัณฑ์
“คณะผู้วิจัยพบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการมีอยู่ของบริษัทผีดิบ (zombie firms) หรือบริษัทที่ไม่สามารถทำกำไรได้และควรที่จะต้องออกจากตลาดไป แต่กลับอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจได้ มีความสัมพันธ์กับธุรกิจ โดยสัดส่วนของบริษัทผีดิบที่สูงในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ มีความสัมพันธ์กับการลงทุนที่ต่ำของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมนั้น และโอกาสที่ลดลงในการที่บริษัทใหม่ ๆ จะเข้าสู่อุตสาหกรรมนั้นด้วย สะท้อนถึงปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจที่ผลิตภาพต่ำ โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบสูง ได้แก่ การก่อสร้าง โรงแรม กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมผลิตโลหะพื้นฐาน และการศึกษา”นายอาชว์ กล่าว
จากผลการศึกษามีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ประการแรก บริษัทขนาดกลางจำนวนหนึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง สะท้อนถึงการที่บริษัทเหล่านี้อาจเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงหรือมีข้อจำกัดด้านสินเชื่อ นโยบายที่ช่วยให้บริษัทในกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทขนาดเล็กจำนวนมากมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำ ชี้ให้เห็นปัญหาผลิตภาพของบริษัทกลุ่มนี้ในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การใช้นโยบายที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องใช้นโยบายอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของบริษัทควบคู่ไปด้วย
ประการที่สอง อำนาจตลาดของบริษัทไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทในกลุ่มทุนมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัททั่วไป และอำนาจตลาดส่งผลทางลบต่อประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรโดยทำให้บริษัทขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขาดแรงจูงใจและความสามารถในการส่งออก ดังนั้น การเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแลด้านการแข่งขันควรที่จะนำมิติด้านโครงสร้างความเป็นเจ้าของมาพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายด้วย
ประการที่สาม พลวัตธุรกิจไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการมีอยู่ของบริษัทผีดิบส่งผลทางลบต่อโอกาสที่บริษัทใหม่จะเข้าสู่ตลาดและต่อการเติบโตของบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน นโยบายที่ทำให้บริษัทเก่าที่ไม่สามารถทำกำไรได้ออกจากตลาดเร็วขึ้น เช่น การปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย ดังเช่นในกรณีของต่างประเทศ หรือนโยบายที่ช่วยให้บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตั้งบริษัทใหม่จะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการที่บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นจะช่วยยกระดับการแข่งขันในตลาดให้เพิ่มขึ้นและลดอำนาจตลาดของบริษัทอีกด้วย
ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐหลาย ๆ ด้านดำเนินมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการยกระดับผลิตภาพของ SMEs ที่ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดหลักตัวหนึ่ง หรือด้านการแก้ปัญหาการล้มละลายและการเริ่มต้นธุรกิจที่ประเทศไทยได้มีการพัฒนามาตามลำดับ โดยในการจัดอันดับ Ease of Doing Business โดยธนาคารโลก ประเทศไทยได้อันดับดีขึ้นจาก 75 เป็น 39 และจาก 45 เป็น 24 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในบทความนี้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงและแก้ไขนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย.-สำนักข่าวไทย