ศาลปกครอง 30 ต.ค.- ศาลปกครองใช้เวลาทั้งวันไต่สวนคำฟ้องขอระงับคำสั่งแบน 3 สารพิษ ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ด้านเครือข่ายฯชี้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ฟังผลการศึกษา “ไทยแพน” เพียงอย่างเดียว ยกผลตรวจสารพิษราชบุรีไม่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน เชื่อหากมีคำสั่งแบนจริงเกิดอาฟเตอร์ช็อกแน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองใช้เวลาตลอดทั้งวันในการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยระงับคำสั่งยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ตามที่เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง พร้อมด้วยเครือข่ายผู้แทนเกษตรกร 6 จังหวัด รวม 1,091 คน ยื่นฟ้องหรือไม่
เมื่อเวลา 16.30 น. น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสารักแม่กลอง กล่าวหลังการไต่สวนว่า วันนี้เป็นกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงซึ่งตนได้นำข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแบน 3 สารเคมี โดยชี้แจงทั้งวาจาและเอกสาร ซึ่งศาลยังไม่ได้ระบุว่าจะมีคำสั่งเมื่อใด และไม่ได้มีการนัดหมายอะไรเพิ่มเติม โดยพยานฝ่ายเครือข่ายฯ ผู้ร้องที่เข้าให้ถ้อยคำในวันนี้มี 4 คน
ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องมีผู้แทนเลขาคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนฝ่ายกฎหมายกรมวิชาการเกษตร ซึ่งพยายามยกผลการศึกษาและการเก็บข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมี กำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้เป็นข้อมูลในพิจารณาแบน 3 สารเคมี ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่มีตัวแทนเกษตรกรร่วมเป็นกรรมการพิจารณา
น.ส.อัญชุลี ยังเปิดเผยว่า ได้นำข้อเท็จจริงจากการศึกษา ผลกระทบที่ใช้เวลา 2 ปี 6 เดือนในการศึกษาจากการเก็บตัวอย่างผัก และผลไม้ที่สวนในจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกกล่าวหา และที่ตลาดศรีเมือง ตลาดค้าส่งผักและผลไม้ของจังหวัดราชบุรี ไปตรวจสอบไม่พบสารตกค้าง ในผลผลิตทางการเกษตรจากการใช้ สารพาราควอตและไกลโฟเซต ส่วนสารคลอร์ไพริฟอส พบมีการตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน จนเป็นอันตราย โดยหลังจากนี้ก็จะรอว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร แต่เชื่อว่าหากมีการแบน 3 สารเคมีดังกล่าวจริงจะมีผลกระทบตามมาเป็นอาฟเตอร์ช็อก อย่างเช่นกรณีสหรัฐและประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไต่สวนช่วงบ่ายศาลได้อนุญาตให้ทางเครือข่ายฯ นำพยานเข้าให้ข้อมูลเพิ่มอีกเพียง 2 ปาก จากที่เหลือจากช่วงเช้า 8 ปาก คือ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก และนายวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ที่มาให้ข้อมูลในฐานผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้หลังการไต่สวนศาลปกครองกลางจะต้องมีการนำข้อมูลไปพิจารณาก่อน จึงยังไม่ได้มีคำสั่งใดๆออกมา.-สำนักข่าวไทย