กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ กำชับคณะทำงานช่วยเหลือเกษตรกรได้รับกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด พร้อมรับฟังผู้แทนเกษตรกรพืชเศรษฐกิจต้นทุนสูงขึ้นและกำหนดมาตรกรชดเชย ชี้ต้องเสร็จก่อน 1 ธันวาคม เพื่อให้เกษตรกรเดือดร้อนน้อยที่สุด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการที่ออกคำสั่งกระทรวงเกษตรฯ เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ในวันนี้ได้กำชับนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานให้เร่งประชุมกรรมการ ประกอบด้วย อธิบดีกรมต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 17 คน เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล นวัตกรรม เครื่องจักรกล เทคโนโลยีทางการเกษตร และสารเคมีทดแทน และกำหนดแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประกาศมติให้สารเคมีดังกล่าวเป็นวัตถุเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลให้ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อวิถีการทำเกษตรของเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล จึงสั่งการให้คณะทำงานเชิญผู้แทนเกษตรกรมาให้ความคิดเห็นถึงแนวทางในการปรับเปลี่ยนและสิ่งที่ต้องการให้รัฐช่วยสนับสนุนทั้งด้านต้นทุนการผลิตที่อาจสูงขึ้น เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งจะนำมาทดแทน กำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติงานตามแนวทางและมาตรการที่กำหนด โดยมอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ และนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ เป็นที่ปรึกษา โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อ รมว.เกษตรฯ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คณะทำงานยังต้องกำหนดวิธีการสื่อสารแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่จัดทำ เพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป
“แต่งตั้งผู้บริหารทุกกรมที่เกี่ยวข้องมาเป็นกรรมการ เพื่อจะได้แนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรอบด้าน ต้องได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ยังคงมอบหมายนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ซึ่งกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรเตรียมสารชีวภัณฑ์ สารเคมีอื่น และวิธีการต่าง ๆ รองรับไว้ด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายเฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย