กทม. 28 ต.ค. – “สมคิด” ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย ปฏิรูปหลักสูตรการเรียน การสอน พัฒนาแรงงาน รองรับผู้ประกอบการในเขตอีอีซี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เนื่องจากกระแสโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การศึกษาจึงก้าวข้ามไปจากการเรียนในปัจจุบันอย่างมาก ทุกคนหาความรู้ได้จากโซเชียล หลายสาขาในต่างประเทศต้องการเน้นงานวิจัยและพัฒนามาใช้พัฒนาสินค้า และเริ่มมีสัดส่วนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในองค์กร หากไทยไม่ปรับตัวจะไม่มีนักลงทุนเข้ามาขยายการลงทุน เช่น จีน ได้ใช้เมืองเซินเจิ้นเป็นโมเดลพัฒนาแรงงานคุณภาพ เมื่อได้ผลดีจึงเตรียมขยายไปยังมณฑลต่าง ๆ ทั่วจีน ไทยจึงต้องปรับตัวด้วยเช่นกันพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ไม่ต้องห่วงเรื่องปริญญาตรี โท เอก เหมือนที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาแรงงานให้ตรงกับองค์กรที่ต้องการ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การหารือร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้งประเทศครั้งนี้ เพื่อร่วมกับปฏิรูป พัฒนาหลักสูตรกับภาคเอกชน รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะจากนี้ไปการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ใช่แรงจูงใจด้านภาษีสำหรับส่งเสริมการลงทุน แต่กลับเป็นแรงงานคุณภาพที่ต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการของเอกชนในยุคดิจิทัล ระบบการเรียน การสอน จึงต้องทบทวนกันใหม่ทั้งหมด ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมส่งเสริมมาตรการแรงจูงใจด้านอื่นให้เอกชนมาร่วมลงทุนกับสถาบันการศึกษามากขึ้น เพราะแรงงาน 38 ล้านคน ได้รับผลกระทบต้องปรับตัวมารองรับให้ตรงจุด ทั้งภาคเอกชนและภาคบริการ สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องการแรงงาน 400,000-500,000 คน ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันยกระดับแรงงานไทย
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนเตรียมร่วมกับสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตร Non Degree มุ่งเน้นความต้องการแรงงานจากภาคเอกชนเป็นหลัก แทนการสร้างค่านิยม ได้วุฒิการศึกษาปริญญาตรี โท เอก ด้วยการส่งพนักงานในบริษัท หรือร่วมกับสถาบันการศึกษาคัดเลือกบุคคลเข้ามาร่วมการฝึกอบรม เนื่องจากเศรษฐกิจยุคใหม่ ภาคเอกชนต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปมาก จนต้องตั้งสถาบันฝึกอบรมขึ้นมาเอง เพื่อเรียนจบการันตีทุกคนมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะนี้เริ่มต้นสาขาหุ่นยนต์ เทคโนโลยีอาหาร สุขภาพ ต่อไปจะขยายไปยังภาคอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ด้านดิจิทัล การบิน อุตสหากรรมแนวใหม่แห่งอนาคต.-สำนักข่าวไทย