กรุงเทพฯ 26 ต.ค.-กระทรวงพาณิชย์ เตรียมแถลงข่าว กรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 28 ต.ค.นี้ ขณะที่ภาคเอกชนไทย ยอมรับ ยังงงคำประกาศของสหรัฐ ตัดสิทธิ GSP ไทยเพิ่ม พร้อมย้ำรับมือหาตลาดใหม่ทดแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐหรือ USTR ได้ออกประกาศว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือ GSP กับสินค้าของไทยเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 39,650 ล้านบาทโดยระบุว่าไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิ์ที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากลนั้นโดยสินค้าไทยที่อยู่ในการที่จะถูกตัดสิทธิ GSPตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 จะมีถึง 573 รายการ ครอบคลุมทั้งของกินและของใช้ตั้งแต่อาหารทะเล ผักและผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักและผลไม้ ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้อัดและไม้แปรรูป เครื่องประดับ แผ่นเหล็ก และสแตนเลส เป็นต้น
ล่าสุดในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้แจ้งกับสื่อมวลชนเตรียมแถลงข่าว เรื่อง กรณีสหรัฐ ตัดสิทธิ GSP ไทยในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. ที่ กรมการค้าต่างประเทศ
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุ สาเหตุที่แท้จริงการตัดสิทธิ์ GSP ครั้งนี้ เป็นการตอบโต้ทางการไทย ที่สั่งแบน 3 สารพิษ ซึ่งสหรัฐได้ทักท้วง โดยสถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยแล้วก่อนหน้านี้ สำหรับทางออกต่อกรณีดังกล่าวนั้น รัฐบาลเตรียมใช้เวทีการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการประชุมอาเซียนซัมมิท ในไทย ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.นี้ ซึ่งจะมีเวทีคู่ขนาน และจะมีตัวแทนจากทางการสหรัฐร่วมประชุม เพื่อเจรจาแก้ปัญหาต่อไป
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณี สถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทย เรื่องขอให้ทบทวนการแบน 3 สารเคมีภาคเกษตร จะส่งผลกระทบอย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ส่งมายังกระทรวงพาณิชย์ โดยที่ตนได้นำเอกสารดังกล่าว ส่งต่อไปยังกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของกระทรวงอุตสาหกรรม นำไปพิจารณาแล้วว่า จะมีผลกระทบอย่างไร คงต้องรอผลการพิจารณาของกรมการค้าต่างประเทศอีกครั้ง
“ทั้งนี้สิ่งที่เขาแจ้งมาในหนังสือดังกล่าว คือ เขามีความเป็นห่วงว่าต้นทุนการใช้ยาตัวใหม่จะแพงขึ้น ซึ่งตัวเลขเฉลี่ยนั้นเขาอ้างว่าตัวเลขเป็นแสนล้าน และเขายังห่วงว่าสินค้าทางการเกษตรบางอย่างของเขาจะมีปัญหาในการนำเข้ามาในไทย ดูเหมือนว่าเขาแสดงความเป็นห่วงประเทศเรา แต่ก็ชัดเจนว่าเขาเองก็เป็นห่วงประเทศเขา ดังนั้นตนเองยังตอบไม่ได้ว่าเรื่องนี้จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ก็ต้องพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายของเราด้วย” นายจุลินทร์กล่าว
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงค์ ประธานสภา ผู้ส่งทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐลงนามคำสั่งยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(จีเอสพี) แก่ประเทศไทยหลายรายการสินค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน หลังจากรัฐบาลไทยล้มเหลว ยกระดับสิทธิแรงงานให้เท่าเทียมมาตรฐานโลกนั้น เรื่องนี้ ภาคเอกชนก็ยังสับสนและงงต่อคำประกาศของผู้บริหารสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ไทยถูกปรับอันดับจากเดิมเคยได้อยู่เทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 เมื่อกลางปี 61 ที่ผ่านมา เห็นว่าไทยได้แก่ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การจะปรับฐานะไทยขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 ที่สหรัฐจะเน้นให้เฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น จึงไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะประกาศปรับลดอันดับไทยลงเป็นเทียร์ 3 หรืออะไรยังไม่ทราบด้วยเหตุผลที่แท้จริงได้
อย่างไรก็ตาม คงจะต้องขอเวลาศึกษาคำประกาศของสหรัฐก่อนว่าจะตัดสิทธิจีเอสพีของไทยในกลุ่มสินค้าอะไรบ้าง แต่เท่าที่ได้เห็นเบื้องต้นน่าจะกระทบต่อกลุ่มสินค้าประมงของไทยพอสมควร และคงต้องติดตามดูว่าตัวผู้บริหารของสหรัฐจะประกาศปรับเปลี่ยนอะไรอีกหรือไม่ในที่ให้เวลาไทยอีก 6 เดือนในการตัดสิทธิจีเอสพี คงต้องตามดูกันต่อไป และกลุ่มสินค้าประมงของไทยคงต้องปรับตัวหาช่องทางอื่นในการทำตลาดกันต่อไป
นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางหอการค้าไทยทราบเรื่องที่สหรัฐได้ประกาศตัดสิทธิจีเอสพีต่อไทยแล้ว ภาคเอกชนขอเวลาศึกษาในรายละเอียดของคำประกาศดังกล่าวให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะปรับตัวรับผลกระทบดังกล่าวอย่างไรดี และจะต้องดูว่าผู้ประกอบการที่เข้าข่ายถูกตัดสิทธิเป็นบริษัทของคนไทยหรือประเทศอะไรที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยกันแน่ คาดว่าจะทราบผลที่ชัดเจนในเร็วๆนี้
“ทั้งนี้ อยากฝากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อสหรัฐให้เวลาไทย 6 เดือนก่อนถูกตัดสิทธิ์ จึงอยากให้ทุกหน่วยงานช่วยไปเจรจาเรื่องนี้ให้กับภาคเอกชนด้วย “นายกลินท์กล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง กล่าวว่า สมาคมฯขอเวลาศึกษารายละเอียดในคำประกาศของสหรัฐให้ชัดเจนก่อน แต่เข้าใจว่าในส่วนกลุ่มอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับคำประกาศสหรัฐน่าจะอยู่ในกลุ่มประเภท ปลาและปลาหมึกเป็นหลัก ดังนั้น คำประกาศของสหรัฐนี้ถือเป็นเรื่องวิบากกรรมของสินค้าไทยในกลุ่มนี้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบหลายด้านทั้งค่าแรง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ที่ผ่านมาภาคการส่งออกของไทยก็ปรับตัวมาตลอดหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเก่าอยู่แล่ว.-สำนักข่าวไทย .-สำนักข่าวไทย