นครเซินเจิ้น 23 ต.ค. – รองนายกรัฐมนตรีชวนนักลงทุนจีน หลังไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ คาดอันดับ Doing Business ประกาศศุกร์นี้ขยับดีขึ้น หนุนการตัดสินใจเข้ามาลงทุนไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “กลยุทธ์การดึงพันธมิตร ร่วมนโยบาย Belt and Road เส้นทางสายไหมใหม่ เชื่อกับอีอีซีของไทย” ณ นครเซินเจิ้น ว่า การเดินทางมาเยือนเมืองเซินเจิ้นครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะกับทางมณฑลกวางตุ้ง นับว่ามณฑลกวางตุ้งได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากจนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนยุคใหม่ เป็นผู้นำเชิงนวตกรรม และสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ระดับโลก ความโดดเด่นของกวางตุ้งและเซินเจิ้น ทำให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมุ่งเน้นให้เป็นพลังขับเคลื่อนนโยบาย Greater Bay area ( GBA) กว่างโจ -ฮ่องกง- มาเก๊า เพื่อให้เป็น Gate way เชิงยุทธศาสตร์ ของจีนยุคใหม่ เพื่อเชื่อมกับโลกภายนอก
หลังจากนายสมคิด เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อประชุมร่วมประชุม High level JC ไทย-จีน กับมุขมนตรีแห่งรัฐ นายหวังหย่ง และเข้าพบหารือกับนายหานเจิ้นรองนายกรัฐมนตรีจีน เพื่อหวังเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง GBA จีนตอนใต้กับกลุ่มประเทศ CLMVT โดยไทยเป็นศูนย์กลางลงไปสู่อาเซียน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องร้อยละ 4.1 ในปี 2561 และคาดว่าปีนี้จะเติบโต ร้อยละ 2.7 – 3.2 ขณะที่ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันได้รับการจัดอันดับเศรษฐกิจมหภาคจาก IMD ในอันดับที่ 8 ของโลก ส่วนอันดับ Ease of doing business อันดับ 27 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในวันศุกร์นี้เตรียมประกาศอันดับการอำนวยความสะดวกสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจ ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงดึงดูดใจการเข้าไปลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการมีเชื้อสายเดียวกันระหว่างไทย-จีน วัฒนธรรมอารหารคล้ายคลึง ทำให้เอกชนรายใหญ่ของจีนหลายแห่งตัดสินใจเข้าไปลงทุนในเขตอีอีซี เพื่อเข้าไปร่วมขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และต้องการเชิญชาวจีนไปท่องเที่ยวไทยเพิ่มอีก 2-3 เท่าจากปัจจุบัน เพราะไทยอยู่อันต้นที่ชาวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ขยายตัวร้อยละ 7 เติบโตเหมือนกับมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจเติบโตที่สุดของจีน และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังเติบโตไปได้ไกลอีก 15-20 ปี จากประชากร 230 ล้านคน เป็นตลาดใหญ่รองรับการเข้าไปลงทุน และหากเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากเวียดนาม สปป.ลาว ไทย ต่อไปยังประเทศบังกลาเทศ กลุ่มตลาดเป้าหมายมีประชากรสูงถึง 400 ล้านคน นับเป็นตลาดใหญ่ เพื่อรองรับนักลงทุนขยายไปลงทุนในประเทศไทย
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมทั้งบุคคลากรคุณภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส สิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การให้สิทธิประโยชน์แรงจูงใจเข้ามาลงทุน เมื่อมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเข้าไปขยายการลงทุนเปิดทางให้ต่างชาติถือหุ้นใหญ่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับภาคการผลิต ถือหุ้นใหญ่ด้านบริการและขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีนโยบายไทยแลนด์พลัส เมื่อนักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง เกษตรสมัยใหม่
การลงทุนจริงภายในปี 2562 วงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากสิทธิ์พื้นฐานเพิ่มอีก 5 ปี หากลงทุนในเขตอีอีซี เขตเศรษฐกิจชายแดน และพื้นที่ยากจนจะได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมอีกเช่นกัน ปัจจุบันไทยสามารถดึงดูดโครงการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมามูลค่าเงินลงทุนในพื้นที่อีอีซี ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 130 มูลค่าลงทุน 680,000 ล้านบาท สําหรับการลงทุนจากจีนในอีอีซีตั้งแต่ปี 2561 จนถึงไตรมาส 2 ปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 59,000 ล้านบาท จึงต้องการเชิญชวนนักลงทุนจีนเข้าไปขยายการลงทุนในอีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดความร่วมมือใน GBA ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road และ Thailand 4.0 ในพื้นที่อีอีซีเป็นความตั้งใจของรัฐบาลไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านการขนส่งบก น้ำ อากาศ การค้า การลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยี ครอบคลุม CLMVT ขณะนี้มีความร่วมมืออุตสาหกรรมระหว่าง 12 target Industries และ Made in China 25 มีความสอดค้ลอง 6 อุตสาหกรรม คือ ยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ การบิน และดิจิทัล อีอีซี เตรียมร่วมมือกับหัวเหว่ย เพื่อพัฒนา 5G platform ในเขตอีอีซี ไทยจึงพร้อมพานักลงทุนจีนไปลงทุน CLMV เพื่อขยายฐานความร่วมมือด้านการผลิต-การค้า-การเงินอย่างจริงจังและไม่เอาเปรียบกัน.-สำนักข่าวไทย