กรุงเทพฯ 3 ธ.ค.-กสิกรไทยประเมินสัปดาห์น้าเงินบาทเคลื่อนไหว 35.50-35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีหุ้นไทยแนวรับที่ 1,490 และ 1,475 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,515 และ 1,525 จุด
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ( 28 พ.ย.-2 ธ.ค.) เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าทดสอบ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต่อมา หลังจากเงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนบางส่วนจากมติการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกที่หนุนให้การคาดการณ์เงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขยับขึ้น ขณะที่ ว่าที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ ก็ไม่แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของดอลลาร์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แรงหนุนเงินดอลลารฯ ยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนต้องการรอดูการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ สำหรับในวันศุกร์ (2 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (25 พ.ย.)
ด้านดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวกรอบแคบ SET ปิดที่ระดับ 1,501.66 จุด เพิ่มขึ้น 0.08% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 26.92% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 52,056.42 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 586.89 จุด ลดลง 1.41% จากสัปดาห์ก่อน โดยตลาดหุ้นไทยทรงตัวในวันจันทร์ หลังนักลงทุนต่างชาติชะลอการขายหุ้นไทยลง ก่อนที่จะปรับลดลงเล็กน้อยในวันอังคาร จากแรงขายทำกำไร หลังคณะรัฐมนตรีเลื่อนการพิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายออกไป จากนั้น ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานก่อนและหลังการประชุมโอเปกซึ่งได้มีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศในกลุ่มสมาชิกลง จากนั้น ตลาดปรับลดลงในวันศุกร์ จากความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC ในเดือนนี้ที่อาจกระตุ้นการไหลออกของเงินทุน
สัปดาห์หน้า (6-9 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.50-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,490 และ 1,475 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,515 และ 1,525 จุด ตามลำดับ โดยจับตาผลการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของอิตาลี (4 ธ.ค.) ผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB (8 ธ.ค.) ที่อาจมีวาระการพิจารณาขยายเวลาสำหรับโครงการซื้อพันธบัตร ตัวเลขทบทวนจีดีพีไตรมาส 3/59 ของญี่ปุ่น และข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในเดือน พ.ย. ตลอดจนสภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะ จีน ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการ ข้อมูลการค้าสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ PMI ของประเทศในยูโรโซน จีดีพีไตรมาส 3/59 ของญี่ปุ่น และข้อมูลการค้าของจีน-สำนักข่าวไทย