ตลท. 7 ต.ค. – ตลท.เผยหุ้นไทยเดือน ก.ย.ปิดที่ 1,637.22 จุด ลดลง 1.1% จากเดือนก่อน ทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) สิ้นเดือนกันยายน 2562 ปิดที่ 1,637.22 จุด ลดลง 1.1% จากสิ้นเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น 4.7% จากสิ้นปี 2561 โดยเดือนกันยายน ตลาดหลักทรัพย์ไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกับตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียน ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้ามีทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากการเปิดเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกอบกับเงินสกุลเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าส่งผลดีต่อการค้าของญี่ปุ่น ผู้ลงทุนจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในเอเชียตะวันออก
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ไทยมี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า SET Index ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มบริการ ซึ่งมีปัจจัยภายในประเทศสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ ทั้งโอกาสจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและพลังงาน การขยายตัวของเขตเมืองและการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนกันยายน 2562 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย 11,576 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai เดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 57,417 ล้านบาท ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทยสิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ระดับ 16.5 เท่า และ 17.3 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า และ 15.5 เท่าตามลำดับ ด้านอัตราเงินปันผลตอบแทนสิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ระดับ 3.12% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ MSCI Emerging Market ที่อยู่ที่ 2.93%
สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 17.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากสิ้นปี 2561 สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) ของไทยอยู่ที่ระดับ 22,839 ล้านบาท และภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนกันยายน 2562 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 494,799 สัญญา เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรก
ส่วนผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร (CEO Survey) เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการเติบโตของธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 พบว่า CEO คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 มีโอกาสเติบโตในช่วง 2 – 3% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจากการลงทุนภาครัฐ เสถียรภาพการเมืองไทย และการขยายตัวของการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า การแข็งค่าของค่าเงินบาทซึ่งกระทบความสามารถในการส่งออก
ทั้งนี้ CEO ส่วนใหญ่ 80% คาดว่ารายได้ยังคงเติบโต และ 52% คาดว่ารายได้ของปี 2562 จะเติบโตมากกว่า 6% โดยเฉพาะบริษัทในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ CEO ยังเพิ่มความระมัดระวังในการขยายการลงทุนมากขึ้น โดย 87% ของ CEO ยังคงหรือเพิ่มแผนการลงทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 จะทรงตัวหรือมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อาจจะส่งผลเชิงลบต่อธุรกิจ และ CEO เห็นว่าการยกระดับมาตรฐานด้าน ESG เป็นผลบวกต่อธุรกิจมากกว่าปัจจัยอื่น . – สำนักข่าวไทย