กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – กรมชลประทานเตรียมรับมือฝนใต้ สั่งทุกโครงการฯ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังส่งสัญญาณเข้าสู่ฤดูฝน ชี้ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำจำกัดไม่เพียงพอสนับสนุนทำนาปรัง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทุกแห่งในจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ ให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำ เนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณปลายเดือนตุลาคม โดยวันที่ 11 ตุลาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นประธานการประชุมที่สำนักชลประทานที่ 14 อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อมอบนโยบายในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การเตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร-เครื่องมือไปประจำทุกจุดเสี่ยง
สำหรับภาคอื่นที่ผ่านพ้นอุทกภัยแล้ว ให้เร่งสำรวจโครงสร้างพื้นฐานของระบบชลประทาน ได้แก่ ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ คลองหลัก คลองย่อย หากถูกน้ำกัดเซาะจนชำรุดเสียหายให้ซ่อมแซมโดยเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งที่จะเริ่มต้นวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
นายทองเปลว กล่าวว่า สถานการณ์น้ำเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศดีขึ้น เพราะฝนที่ตกจากอิทธิพลพายุโพดุลและคาจิกิ ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น จึงมอบหมายให้โครงการชลประทานต่าง ๆ ประชุมกับคณะกรรมการจัดการชลประทานในพื้นที่ถึงแผนการจัดสรรน้ำว่า จะส่งน้ำเพื่อใช้กิจกรรมต่าง ๆ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังมี 9 เขื่อนได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำนางรอง ทับเสลา และกระเสียว ซึ่งจะต้องวางแผนการจัดสรรน้ำให้แก่พื้นที่ ๆ ใช้น้ำจากเขื่อนดังกล่าวด้วยความรอบคอบ บางพื้นที่อาจส่งน้ำได้เฉพาะเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ และเกษตรต่อเนื่อง คือ พืชสวนและอ้อย แต่ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำสำหรับการทำนาปรังได้
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ฤดูแล้งนี้ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำจำกัด เนื่องจากคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนวันที่ 31 ตุลาคม น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดนจะมีประมาณ 6,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ของลุ่มเจ้าพระยา คาดว่าจะมีน้ำจัดสรรให้ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ประมาณ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเสนอความคิดเห็นไปยังคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กรมส่งเสริมการเกษตร ว่าไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรัง
“จะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูแล้งจนถึงต้นฤดูฝนรวม 9 เดือน หากจัดสรรเพื่อทำนาปรัง ซึ่งใช้น้ำมากจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมาปลูก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือเรื่องรายได้ของเกษตรกร โดยจะนำมาตรการปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่น้ำน้อยมาปรับใช้ เช่น ผ่อนผันชำระหนี้ ธ.ก.ส. การว่าจ้างแรงงาน การฝึกอบรมอาชีพเสริม เป็นต้น ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบภายในวันที่ 15 ตุลาคม”นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย