อุบลฯ 23 ก.ย. – ก.เกษตรฯ น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เร่งช่วยผู้ประสบอุทกภัยผ่านพ้นวิกฤติ ยืนยันอุบลฯ น้ำลด 29 ก.ย.นี้ สั่งกรมชลฯ เตรียมมาตรการรับสถานการณ์น้ำฤดูฝนภาคใต้
ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) สำนักงานชลประทานที่ 7 จ. อุบลราชธานี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบนโยบายการบรรเทาอุทกภัยและการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผ่านระบบประชุมทางไกลกับทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ใน 21 จังหวัดประสบอุทกภัย ได้แก่ อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม อำนาจเจริญ อุดรธานี พิจิตร แพร่ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย พิษณุโลก และเชียงใหม่ ในการนี้ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มายังข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้รัฐบาลดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่และปรับแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทันสถาการณ์แต่ละพื้นที่ ทำให้บรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือให้ประชาชนผ่านวิกฤติได้เร็วที่สุด
ในวันนี้กระทรวงเกษตรฯ จัดโครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกร โดยมีข้าราชการกว่า 7,700 คนเข้าร่วมกิจกรรมใน 21 จังหวัด ซึ่งนายเฉลิมชัย ได้ปล่อยขบวนรถที่บรรทุกสิ่งบรรเทาทุกข์และเครื่องจักร-เครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งมีปล่อยฝูงอากาศยานไร้คนขับ 9 ลำ เพื่อสำรวจพื้นที่ที่เสียหายให้เจ้าหน้าที่ทราบพิกัดในการเข้าฟื้นฟู โดยจากการสำรวจเบื่องต้นมีพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 3.3 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 600,000 ราย
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขอให้ร่วมใจกันดูแลผู้ประสบภัยให้สามารถฝันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชนพร้อมสู้วันนี้และรับสถานการณ์วันข้างหน้า รัฐบาลยืนเคียงข้างประชาชนตลอดเวลา ทั้งนี้ ได้ย้ำว่าในการสำรวจและเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูทุกพื้นที่นั้นจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีการทุจริต เนื่องจากเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย หากพบว่าเกิดขึ้นจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า หลังจากนี้หากไม่มีฝนมาเติม มั่นใจว่าวันที่ 29 กันยายน น้ำที่ท่วมจังหวัดอุบลราชธานีจะคลี่คลาย หลังจากนั้นเดือนตุลาคมซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ได้สั่งการให้กรมชลประทานจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี และ 14 จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า “อุบลราชธานีโมเดล” ให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำ แต่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเชิงเขาและติดทะเล ดังนั้น น้ำจะหลากมาเร็ว แต่ไม่ท่วมขังนาน จึงมอบหมายให้อธิบดีกรมชลประทานเน้นเปิดทางให้น้ำหลากไหลลงสู่ทะเลได้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายของประชาชนในภาคใต้.-สำนักข่าวไทย